คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6472/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า ระหว่างระยะเวลาที่โจทก์รับประกันเครื่องปรับอากาศ โจทก์ผู้ขายมีหน้าที่ต้องดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ส่วนจำเลยผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและค่าบริการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่ตกลงซื้อขายกันนั้นให้แก่โจทก์ โดยแบ่งชำระเป็นรายปีข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น เมื่อระหว่างเวลาที่โจทก์รับประกัน เครื่องปรับอากาศที่โจทก์ขายให้จำเลยนั้นเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายจำนวนมาก จำเลยได้แจ้งให้โจทก์จัดการซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนจำเลยต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกให้มาซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลย จำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและบริการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศให้โจทก์
ส่วนการซื้อขายเครื่องปรับอากาศจำนวน 91 เครื่อง ซึ่งเป็นการซื้อขายครั้งหลังนั้นเป็นการที่จำเลยสั่งซื้อเพิ่มเติมและเป็นจำนวนมากพอสมควร น่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยได้นำข้อตกลงและเงื่อนไขในการซื้อขายเครื่องปรับอากาศครั้งแรกตามสัญญาซื้อขายมาใช้บังคับด้วย และแม้ในสัญญาดังกล่าวจะไม่มีข้อความว่าการที่โจทก์ไม่มาซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องเครื่องปรับอากาศที่เกิดความเสียหายให้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ตามแต่เมื่อสัญญานั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทน การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,533,207 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันคิดบัญชีถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปีเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 1 ปีเป็นเงินดอกเบี้ย 114,989 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน1,648,196 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การ และฟ้องแย้งขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 853,582 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น838,387.85 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย 208,404.43 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 235,407.85 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2532 จำเลยซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์ 539 เครื่อง เพื่อติดตั้ง ณ อาคารศาลอาญาชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 12 ในราคา 17,750,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยหักค่าระบบไฟฟ้าเป็นเงิน 1,200,000 บาท คงเหลือค่าเครื่องปรับอากาศเป็นเงิน 16,550,000 บาท ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 จำเลยซื้อเครื่องปรับอากาศเพิ่มเติมจากโจทก์อีก 91 เครื่อง เพื่อติดตั้ง ณ อาคารศาลอาญาชั้นที่ 13 เป็นเงิน 3,133,980 บาท โดยจำเลยยอมจ่ายค่าระบบไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศจำนวน 88 ชุด ชุดละ 1,000 บาท เป็นเงิน 88,000 บาท ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 3,221,980 บาท ปรากฏตามใบรับสินค้าเอกสารหมาย จ.1 รวมจำเลยสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์ 2 ครั้ง เป็นเงิน 19,771,980 บาท จำเลยชำระราคาให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 19,350,770 บาท คงค้างชำระอีก 421,210 บาท นอกจากนี้ตามสัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) ข้อ 3. ยังมีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยอีกว่าโจทก์รับประกันเครื่องปรับอากาศและบริการในเวลา 4 ปีนับแต่วันส่งมอบงานและจำเลยต้องจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,200,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นรายปี ปีละ 400,000 บาท โดยเริ่มชำระต้นปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 จำเลยส่งมอบงานให้กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2535 จำเลยต้องเริ่มชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ในวันที่ 19 มีนาคม 2537 ถัดไปในวันที่ 19 มีนาคม 2538 และวันที่ 19 มีนาคม 2539 ปรากฏว่าในระหว่างเวลาที่โจทก์รับประกันนี้ เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ ชำรุดบกพร่องเป็นจำนวนมาก จำเลยแจ้งให้โจทก์มาจัดการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงได้จ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซมแทนและเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินทั้งสิ้น 656,617.85 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องชดใช้คืนจำเลยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อคิดดอกเบี้ยที่โจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดในหนี้ของแต่ละฝ่ายจนถึงวันฟ้องแล้วโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ 661,205.18 บาท และจำเลยเป็นหนี้เครื่องปรับอากาศโจทก์อยู่ 452,800.75 บาท และเมื่อนำหนี้มาหักกลบลบกันแล้วโจทก์ยังคงต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 208,404.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 235,407.85 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธินำเงินจำนวน 208,404.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่จะต้องชำระให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาหักกลบลบหนี้จากค่าบำรุงรักษาและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์จำนวน 1,200,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) ข้อ 3 ได้หรือไม่ และโจทก์จะเรียกร้องเงินส่วนที่เหลือภายหลังจากการหักกลบลบหนี้จากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) ระบุให้ระหว่างระยะเวลาที่โจทก์รับประกันเครื่องปรับอากาศ โจทก์มีหน้าที่ต้องดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ส่วนจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและค่าบริการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่ตกลงซื้อขายกันนั้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน1,200,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นรายปี ปีละ 400,000 บาท ในต้นปีที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในระหว่างเวลาที่โจทก์รับประกันเครื่องปรับอากาศที่โจทก์ขายให้จำเลยนั้นเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายจำนวนมากจำเลยได้แจ้งให้โจทก์จัดการซ่อมแซมแก้ไขแล้ว แต่โจทก์ก็เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนจำเลยต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกให้มาซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศดังกล่าว กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลย จำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและบริการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศให้โจทก์ ที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่า โจทก์ขายเครื่องปรับอากาศให้จำเลย 2 ครั้งในระยะห่างกันเป็นเวลา 2 ปี และเครื่องปรับอากาศที่จำเลยซื้อก็นำไปติดตั้งไว้ต่างสถานที่กัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศตามเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) จึงไม่ครอบคลุมมาถึงการซื้อขายเครื่องปรับอากาศครั้งที่ 2 นั้น เห็นว่าการซื้อขายเครื่องปรับอากาศจำนวน 91 เครื่อง ซึ่งเป็นการซื้อขายครั้งหลังนั้นเป็นการที่จำเลยสั่งซื้อเพิ่มเติมและเป็นจำนวนมากพอสมควร จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยซื้อเครื่องปรับอากาศครั้งหลังโจทก์จำเลยได้นำข้อตกลงและเงื่อนไขในการซื้อขายเครื่องปรับอากาศครั้งแรกระหว่างโจทก์จำเลยตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) มาใช้บังคับด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า ในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) ไม่มีข้อตกลงว่าการที่โจทก์ไม่มาซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องเครื่องปรับอากาศที่เกิดความเสียหายนั้นถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า แม้ในสัญญาดังกล่าวจะไม่มีข้อความที่จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่เมื่อสัญญานั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้ว การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามสัญญาต่างตอบแทนดังกล่าว โจทก์ก็เป็นผู้ผิดสัญญา กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประการอื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share