คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 429/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(4) ข้อ ข. บัญญัติเพื่อให้คาดคะเนไว้ก่อนว่าหากจำเลยมีพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้แสดงว่าจำเลยน่าจะไม่สามารถจะชำระหนี้ของตนได้ และตกเป็น ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าจำเลยกระทำการโดยเจตนาที่จะประวิงการชำระหนี้หรือไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ การที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าไปรษณีย์ตอบรับแจ้งว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ และทราบความ จากน้องชายจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ยังไม่พอฟังตามข้อสันนิษฐาน ดังกล่าวข้างต้นว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์เงินต้นและดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 409,205 บาท นายปกภพ ปานทองเสม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปทวงถามจำเลยที่บ้านไม่พบจำเลย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามทางไปรษณีย์ตอบรับส่งไปที่บ้านจำเลย เลขที่ 51/37 หมู่ที่ 1 ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบ้านเลขที่ 198 ถนนเจริญรัก ตำบลคลองต้นไทร อำเภอคลองสาน กรุงเทพมหานครปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวส่งให้แก่จำเลยที่บ้านทั้งสองแห่งไม่ได้โดยไปรษณีย์ให้เหตุส่งไม่ได้ว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.14 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทราบจากน้องชายจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายรายไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปที่บ้านจำเลยตามสำเนาทะเบียนบ้านและภูมิลำเนาที่จำเลยให้ไว้แก่ธนาคาร แต่ส่งไม่ได้ไปรษณีย์ให้เหตุผลว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ จึงต้องตามข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8(4) ข้อ ข. แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าวพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติเพื่อให้คาดคะเนไว้ก่อนว่าหากจำเลยมีพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้แสดงว่าจำเลยน่าจะไม่สามารถชำระหนี้ของตนได้ และตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนี้โจทก์จึงต้องนำข้อเท็จจริงมาสืบให้เข้าข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า การมีพฤติการณ์หรือการกระทำของจำเลยตามมาตรา 8(4) ข้อ ข. นั้น เป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ ลำพังข้อเท็จจริงที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่าไปรษณีย์ตอบรับแจ้งกลับมาว่า ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่และพยานทราบจากน้องชายจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายรายไม่สามารถชำระหนี้โจทก์ได้นั้น ยังไม่พอฟังตามข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4) ข้อ ข. ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share