คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องเพราะคำฟ้องเขียนฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจโจทก์อุทธรณ์อ้างเพียงว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าวและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ กับอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ศาลตัดสิทธิโจทก์ทั้งที่ทราบว่าคดียังไม่ถึงที่สุดเท่านั้นมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลางว่าคำฟ้องมิได้เขียนฟุ่มเฟือยและสามารถอ่านเข้าใจได้ พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์เขียนฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ ให้คืนคำฟ้อง ให้โจทก์ทำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง โจทก์ทำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องที่นำมายื่นใหม่แล้วมีคำสั่งว่าคำฟ้องของโจทก์ยังคงอ่านไม่เข้าใจ ให้คืนคำฟ้อง ให้โจทก์ทำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 หากคำฟ้องที่ทำมาใหม่ยังฟุ่มเฟือยหรืออ่านไม่เข้าใจ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจยื่นฟ้องอีกโจทก์ทำคำฟ้องมายื่นใหม่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คำฟ้องโจทก์อ่านไม่เข้าใจ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจยื่นฟ้องอีก มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ให้จำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องเพราะเหตุคำฟ้องเขียนฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ โจทก์อุทธรณ์อ้างเพียงว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าวและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความกับอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ศาลตัดสิทธิโจทก์ทั้ง ๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าคดียังไม่ถึงที่สุดเท่านั้นมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลางว่าคำฟ้องมิได้เขียนฟุ่มเฟือยและสามารถอ่านเข้าใจได้ พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์มาไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

Share