แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทระบุว่า เมื่อถึงกำหนด12 เดือน ตามข้อ 1(คือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533) และไม่มีการ ต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลา กันใหม่ ผู้เบิกเงินเกินบัญชีและธนาคารตกลงกันให้มีการเบิกเงิน เกินบัญชีตามสัญญานี้ต่ออีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไป หมายความ เพียงว่าหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินจากโจทก์ต่อไปโดยไม่มีการต่ออายุสัญญา เบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนังสือจึงจะเป็นการตกลงให้มี การเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน หาใช่ว่าเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกเงินจากโจทก์อีกต่อไป จะเป็นการตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไปไม่ ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาเป็นหนังสือกันต่อไป และไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยที่ 1ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงิน เกินบัญชีต่อไป ทั้งไม่ปรากฏว่านับแต่วันถัดจากวันครบกำหนด ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงิน จากโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ภายหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แล้วก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เท่านั้นไม่ใช่เพื่อ ให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี อีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ย่อมเลิกกันและสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา เบิกเงินเกินบัญชีคือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งมีผลให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น ผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ซึ่งธนาคารจะคำนวณและลงบัญชีตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ทุกเดือน และโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็น รายเดือน ดังนั้นดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญานั้น ยังไม่ถึง 1 เดือน ตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ย ไม่ทบต้น หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดแล้วในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 และเมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัด ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง แล้วโจทก์มีสิทธิที่จะ หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้ โจทก์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 ได้ทันที การที่โจทก์ยังคง คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิ ตลอดมา ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏ ในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น จนเวลาให้ล่วงเลยมาจนครบ 1 ปี จึงนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 เข้าหักทอนบัญชีจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อปรากฏรายการเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2533 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 1,100,010.68 บาท จึงต้องถือยอดเงินดังกล่าวเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ โดยให้นำเงิน จากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยหัก ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 และให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไปออกจากยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยหักออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยไม่ทบต้นก่อน ที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน214,489.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 201,188.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่25 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 1,000,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน12 เดือน ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2นำสมุดฝากเงินประจำจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จำนำเป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ยอมให้โจทก์หักเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้ได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้กับโจทก์หลายครั้งอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์เรื่อยมา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2534 โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ส่วนที่ยังค้างชำระ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใดและจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 4 ระบุว่าเมื่อถึงกำหนด 12 เดือน ตามข้อ 1 (คือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533)และไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ ผู้เบิกเงินเกินบัญชีและธนาคารตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญานี้ต่ออีกคราวละ 6 เดือนตลอดไปหมายความเพียงว่า หลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1แล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินจากโจทก์ต่อไปโดยไม่มีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนังสือจึงจะเป็นการตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน หาใช่ว่าเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกเงินจากโจทก์อีกต่อไป จะเป็นการตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน ตลอดไปไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาเป็นหนังสือกันต่อไปแต่อย่างใด ทั้งตามรายการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.16 ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่านับแต่วันที่13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้จำเลยที่ 1ขอเบิกเงินจากบัญชีหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไป ไม่ปรากฏว่านับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจากโจทก์อีกการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีหลายครั้งภายหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกัน มิใช่มีการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีกคราวละ 6 เดือน ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 4 บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีคือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งมีผลให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ได้ถึงวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2 ว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีทบต้นตามประเพณี ธนาคารพาณิชย์ซึ่งธนาคารจะคำนวณและลงบัญชีตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ทุกเดือนและปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญานั้นยังไม่ถึง 1 เดือน ตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ยไม่ทบต้น และหลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดแล้วโจทก์คิดดอกเบี้ยได้แบบไม่ทบต้น ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น ปรากฏตามอัตราการคิดดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.17 ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2533 ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ดังนั้น นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 แบบไม่ทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1สิ้นสุดลงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 แล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้โจทก์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 แต่โจทก์กลับเพิกเฉยและยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิตลอดมาทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันสูงขึ้น โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนครบ 1 ปี จึงนำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 เข้าหักทอนบัญชีซึ่งไม่ถูกต้องตามรายการบัญชีเอกสารหมาย จ.16 ไม่ปรากฏรายการวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ปรากฏรายการเพียง วันที่ 31 ตุลาคม 2533 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 1,100,010.68 บาท จึงให้ถือยอดเงินดังกล่าวเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จโดยให้นำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 และให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีนับแต่วันที่14 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปออกจากยอดเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระโดยหักออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยไม่ทบต้นก่อนที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,100,010.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้นำเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยหักชำระหนี้ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 และให้หักเงินที่จำเลยที่ 1นำเข้าบัญชีนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปออกจากยอดเงินที่จำเลยทั้งสามต้องชำระโดยหักออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยไม่ทบต้นก่อน ที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี