คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7155/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมกู้เงินโจทก์ โดยจำเลยนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน จำเลยร่วมค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปีเศษโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น กล่าวคือ ห้ามบังคับจำนองหนี้ประเภทเดียวคือดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความหรือไม่ก็ตาม หาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยในส่วนที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี เท่านั้น โจทก์รับจำนองที่ดินของจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2530เพื่อเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 100,000 บาท ขณะนั้นที่ดินจำเลยมีราคามากกว่าหนึ่งแสนบาทประกอบกับในระยะเวลาตั้งแต่รับจำนองราคาที่ดินโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแม้ขณะนี้ราคาที่ดินจะลดไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นการลดเพียงเล็กน้อยแม้ในขณะฟ้องคดีราคาที่ดิน ของจำเลยก็ยังต้องสูงกว่าราคาขณะจำนองหลายเท่าตัว อยู่นั่นเอง ปัญหาในเรื่องราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนเงิน ที่ค้างชำระหรือไม่ เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แม้จำเลยไม่ได้นำสืบ แต่เมื่อข้อนำสืบของโจทก์หรือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและที่รู้กันอยู่ทั่วไปบ่งชี้ไว้ ศาลก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ ย่อมฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้โจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(3) นั้นปัญหานี้เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้หรือไม่ แต่โจทก์ไม่ได้ ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาย่อมไม่รับ วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2530นายอิศราภรณ์ กล่ำเครืองาน กู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนโดยจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 28890 เป็นประกันต่อมานายอิศราภรณ์ผิดสัญญา ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาเกินกว่า 7 ปี แต่โจทก์ขอคิดเพียง 7 ปี รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 205,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วนายอิศราภรณ์เพิกเฉยโจทก์จึงทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยหนี้ที่นายอิศราภรณ์จำเลยร่วมค้างชำระท่วมราคาทรัพย์จำนองและทรัพย์จำนองไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิ์อื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์จำนอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน205,000 บาท หากไม่ชำระขอให้เอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นของโจทก์โดยให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์พร้อมชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีแทนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยแต่หากไม่สามารถปฏิบัติได้ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
จำเลยให้การว่า ทรัพย์จำนองมีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ที่โจทก์ขอให้เอาทรัพย์จำนองหลุดจึงไม่ขอบ โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายอิศราภรณ์ กล่ำเครืองามเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดทั้งมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง และโจทก์มิได้มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยร่วมยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยร่วมออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกิน5 ปี และเป็นเงินไม่เกิน 105,000 บาท แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 28890 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกู้เงินโจทก์ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 28890 มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันจำเลยร่วมค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา7 ปีเศษ โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จากจำเลยหรือไม่เห็นว่า แม้ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะไม่ได้วินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน สำหรับประเด็นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า”ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่าผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น กล่าวคือห้ามบังคับจำนองหนี้ประเภทเดียวคือดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความหรือไม่ก็ตาม หาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาไม่ดังนั้น ในกรณีนี้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในส่วนที่ค้างชำระไม่เกินห้าปีเท่านั้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อต่อไปมีว่าโจทก์ชอบที่จะเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729 ได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์รับจำนองที่ดินของจำเลยเมื่อปี พ.ศ. 2530เพื่อเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 100,000 บาท แสดงว่าขณะนั้นที่ดินจำเลยต้องมีราคามากกว่าหนึ่งแสนบาทอย่างแน่นอน เพราะโดยวิสัยคนทั่วไปย่อมไม่รับจำนองที่ดินในราคาที่เท่ากับราคาที่ดินเป็นแน่ ประกอบกับในระยะเวลาตั้งแต่รับจำนองจนถึงบัดนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าราคาที่ดินโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแม้ขณะนี้ราคาที่ดินจะลดไปบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นการลดเพียงเล็กน้อย กล่าวโดยสรุปแม้ในขณะนี้ราคาที่ดินของจำเลยก็ยังต้องสูงกว่าราคาขณะจำนองหลายเท่าตัวอยู่นั่นเอง ราคาทรัพย์จำนองจึงท่วมจำนวนเงินที่ค้างชำระที่โจทก์ฎีกาว่า ปัญหาในเรื่องราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนเงินที่ค้างชำระหรือไม่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องนำสืบ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบ ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหานี้นอกเหนือจากข้อนำสืบของโจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แม้จำเลยไม่ได้นำสืบ แต่เมื่อข้อนำสืบของโจทก์หรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและที่รู้กันอยู่ทั่วไปบ่งชี้ไปเช่นที่ศาลวินิจฉัยไว้แต่ต้นศาลก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาทรัพย์จำนองท่วมจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาในข้อสุดท้ายมีว่าขอให้โจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(3) นั้น เห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรกำหนดให้หรือไม่ และปัญหานี้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share