คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ระบุเป็นที่มาแห่งอำนาจในการออกคำสั่งให้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) บัญญัติเป็นหลักการไว้ว่าการนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้นในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้แต่ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี ดังนั้น คำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณาณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ตามบทบัญญัติในมาตรา 35 จึงต้องแปลความหมายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายดังกล่าวด้วย กล่าวคือย่อมรวมถึงการนั่งพิจารณาคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาคดีอันได้แก่ การยื่นคำฟ้องคำร้อง คำขอต่าง ๆ มิใช่แปลจำกัดเคร่งครัดแต่เฉพาะการนั่งพิจารณาคดีเป็นรายเรื่องไป และแม้ในขณะที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งดังกล่าวจะมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือพื้นที่ดังกล่าวและมีอำนาจกำหนดการนั่งพิจารณาโดยอาศัย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 ได้เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องมูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอนางรองและจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอนางรอง โจทก์จึงชอบที่จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ตามคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งกรณีไม่ปรากฏว่ามีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์(นางรอง) ได้ การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยปราศรัยต่อประชาชนผ่านเครื่องกระจายเสียงกล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนเจ้าชู้ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงถูกดูหมิ่นว่าเป็นคนมักมากในกาม ขอให้บังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สืบเนื่องจากศาลนี้ได้มีคำสั่งออกไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง ในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง(หลังเก่า) มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 35 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15เพื่อใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญาทั้งปวง ซึ่งได้แจ้งคำสั่งให้พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ทนายความและประชาชนทั่วไปทราบแล้ว ทั้งนี้โดยเป็นการจำเป็นที่จะให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดแก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ อีกทั้งมูลเหตุแห่งคดีก็ได้เกิดขึ้นที่อำเภอดังกล่าวด้วยโจทก์ชอบที่จะต้องไปยื่นคำฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ตามคำสั่งของศาลดังกล่าวมา จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) แล้วพิจารณาสั่งต่อไป
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์(นางรอง) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์เรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ นั้นเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือจะมีคำสั่งนั้นได้ต้องมีเหตุจำเป็น เช่น เกิดภัยธรรมชาติที่ประชาชนไม่อาจมาศาลได้ที่ศาลมีคำสั่งในเรื่องนี้ไม่มีเหตุจำเป็น และเขตอำนาจศาลตามคำสั่งดังกล่าวเป็นเขตเดียวกันกับศาลจังหวัดนางรอง ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งแล้ว แต่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการดังนั้น จะเปิดดำเนินการในเขตอำนาจศาลจังหวัดนางรองต้องออกพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ประกาศกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ซึ่งการฟ้องคดีไม่ใช่การนั่งพิจารณาคดี ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ต้องรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ก่อน แล้วจึงส่งไปนั่งพิจารณาที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) นอกจากนี้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง)ไม่มีสภาพเป็นศาล การสั่งไปนั่งพิจารณานอกศาลสั่งได้เฉพาะแต่ละคดีเท่านั้น จะสั่งโดยรวมไม่ได้ คดีใดมีความจำเป็นก็สั่งเฉพาะคดีนั้น การที่ศาลสั่งให้ไปนั่งพิจารณาคดีโดยที่ความจำเป็นเฉพาะคดียังไม่เกิดจึงเป็นคำสั่งที่มิชอบ อีกทั้งเมื่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ไม่มีสภาพเป็นศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องได้นั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541เรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีข้อความว่า “ด้วยกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ประชาชนในอำเภอนางรอง ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลต้องประสบความยากลำบากในการเดินทางมาใช้สิทธิทางศาล เป็นเหตุให้ไม่สามารถกระจายความยุติธรรมไปอย่างทั่วถึงทั้งที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้นที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2537 แล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังมีอุปสรรคไม่อาจเปิดทำการได้ เพื่อยังให้การเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อันถือเป็นความจำเป็น สมควรให้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไปนั่งพิจารณา ณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ในอาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า) มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่อำเภอดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบกับมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงกำหนดให้มีการนั่งพิจารณาณ ที่ทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) เพื่อใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งคดีอาญาทั้งปวง ตามความในมาตรา 16 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม” เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ระบุเป็นที่มาแห่งอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าวบัญญัติว่า ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้นในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็นศาลจะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า การนั่งพิจารณาคดีที่ยื่นไว้ต่อศาลใดจะต้องกระทำในศาลนั้น ในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็นศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็วเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี ดังนั้น คำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นหรือในวันหยุดงาน หรือในเวลาใด ๆ ตามบทบัญญัติในมาตรา 35จึงต้องแปลความหมายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายดังกล่าวด้วย กล่าวคือย่อมรวมถึงการนั่งพิจารณาคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาคดีอันได้แก่ การยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอต่าง ๆ มิใช่แปลจำกัดเคร่งครัดแต่เฉพาะการนั่งพิจารณาคดีเป็นรายเรื่องไปเพราะมิฉะนั้นแล้วย่อมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์แห่งกฎหมาย และหาประโยชน์อันแท้จริงมิได้ อีกทั้งการแปลความจำกัดเฉพาะอำนาจที่จะกำหนดการนั่งพิจารณา ณ สถานที่อื่นไม่รวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ยิ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกและล่าช้ายิ่งขึ้น อนึ่ง แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(9) จะให้คำนิยามคำว่าการนั่งพิจารณาหมายความว่าการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเช่นชี้สองสถานสืบพยาน ทำการไต่สวนฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาแต่เมื่อถ้อยคำในมาตรา 35 มีวัตถุประสงค์แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ หมายความรวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการนั่งพิจารณาด้วยแล้ว การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ 12/2541กำหนดการนั่งพิจารณาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อาคารที่ว่าการอำเภอนางรอง (หลังเก่า) จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่อำเภอนางรองและอำเภออื่น ๆ ดังกล่าวในคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเป็นคำสั่งที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่ให้อำนาจออกคำสั่งซึ่งมีความหมายถึงการนั่งพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอนางรองและอำเภออื่น ๆ ที่ระบุในคำสั่งรวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการนั่งพิจารณาคดีดังกล่าวด้วยและการที่มีคำสั่งระบุกำหนดการนั่งพิจารณาของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดบุรีรัมย์และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จึงถือว่าเป็นการจำเป็นตามความหมายแห่งมาตรา 35 ด้วย หาต้องเป็นเหตุจำเป็นอันเกิดแต่ภัยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ และการที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้น ก็เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นในการที่ต้องมีศาลจังหวัดเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดในเขตอำเภอนางรองและอำเภออื่น ๆ ดังกล่าวในคำสั่งคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และการมีคำสั่งดังกล่าวมาตรา 35 ก็มิได้จำกัดว่าจะต้องมีคำสั่งเฉพาะคดีเป็นเรื่อง ๆ ไปดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่ และแม้ในขณะที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งดังกล่าวจะมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนางรองขึ้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการศาลจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือพื้นที่ดังกล่าวและมีอำนาจกำหนดการนั่งพิจารณาโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 35 ได้ เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องมูลคดีเกิดขึ้นที่อำเภอนางรองและจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอนางรองโจทก์จึงชอบที่จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง)ตามคำสั่งของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าว อีกทั้งกรณีไม่ปรากฏว่ามีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องที่โจทก์ไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (นางรอง) ได้ การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์(นางรอง) นั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบ คำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่ไม่รับคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share