คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2727/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รังนกในถ้ำตามเกาะเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ บุคคลใดก็อาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ามายึดถือเอา แม้ อ. ได้รับอนุญาตผูกขาดจากรัฐให้เก็บรังนกบนเกาะได้อ. ก็มีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกที่ผูกขาดก็เข้าเก็บเอาได้ไม่ต้องมีการหวงห้ามเหมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต แต่ อ.จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกนั้นจะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1318เมื่อมีบุคคลอื่นเข้าไปเก็บรังนกจำนวน0.5กิโลกรัมโดยที่อ.ยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกดังกล่าวการเก็บรังนกนั้นจึงยังไม่เป็นการลักทรัพย์ของ อ.จำเลยเป็นผู้ครอบครองรังนกนั้นก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร เพราะรังนกไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมา จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร เมื่อเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,335 ที่แก้ไขแล้ว
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุกคนละ 3 ปี
จำเลยที่ 2 ที่ 4 อุทธรณ์
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 4 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า นายอภิชาติ กิจประสาน ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเก็บรังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติในเขตท้องที่จังหวัดกระบี่จังหวัดหนึ่งมีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2533 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน2538 เกาะพีพีดอน อำเภอเมืองกระบี่ เป็นเกาะเกาะหนึ่งที่อยู่ในเขตได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2534 เวลากลางวัน มีคนเข้าไปในถ้ำหวังหลงบนเกาะพีพีดอน ลักลอบเก็บรังนกอีแอ่นน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัมไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า รังนกในถ้ำตามเกาะเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ายึดถือเอา การที่นายอภิชาติได้รับอนุญาตให้เก็บรังนกได้อันเป็นการได้รับผูกขาดจากรัฐบาลนั้น นายอภิชาติเป็นผู้รับผูกขาดมีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกในถ้ำที่ผูกขาดก็เข้าเก็บเอาได้ ไม่ต้องมีการหวงห้ามเหมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต แต่จะมีกรรมสิทธิ์ได้ในรังนกนั้นยังจะต้องมีการเข้าได้ถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน ตามฟ้องและตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าผู้ที่เก็บรังนกรายนี้ไม่ใช่ลูกจ้างของนายอภิชาติ นายอภิชาติยังมิได้เข้ายึดถือเอาซึ่งรังนกนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 1318แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นายอภิชาติจึงยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกรายนี้ การเก็บรังนกดังกล่าวไปจึงไม่เป็นการลักทรัพย์ของนายอภิชาติตามนัยคำพิพากษาฎีกา 1055/2481ระหว่าง อัยการพังงา โจทก์ นายยี่หมาด สงวนสิน กับพวก จำเลยเมื่อฟังว่ารังนกไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมา จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองรังนกโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์นั้นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะแม้จะฟังได้ดังฎีกาโจทก์ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป คือ ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรได้ เนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์ที่ลักมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ถูกฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 3 นี้ ไม่เป็นความผิด ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยทั้ง 3 นี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 ด้วย

Share