คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6856/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ จ.ในราคา 30,000,000 บาท ฝ่ายผู้จะซื้อชำระราคาแล้ว1,500,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รู้เห็น และยินยอมให้จำเลยทั้งสองทำสัญญาด้วย ต่อมา ว. กับพวกรวม 5 คน ทายาทของเจ้ามรดกฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอแบ่งทรัพย์มรดก ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดก ให้แก่ ว. กับพวกเป็นเงิน 12,328,712.70 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้เอาที่ดินพิพาท ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแทน ซึ่งคดีดังกล่าวศาลฎีกา พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2531 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม2532 จ. ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายจำเลยทั้งสองกับ จ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสองยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ฝ่ายผู้ซื้อ ตามสัญญาและยอมรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ศาลชั้นต้น พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ฝ่ายผู้ซื้อแล้ว ดังนี้ เมื่อทรัพย์มรดก ของเจ้ามรดกคงเหลือที่ดินเพียงแปลงเดียวคือที่ดินพิพาท การที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชำระเงินให้แก่ ว. กับพวกเป็นเงินประมาณ 22,000,000 บาทแต่จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์มรดกเหลือเพียงพอจะชำระเงินให้แก่ ว.กับพวกและว. กับพวกก็จะบังคับคดีโดยนำที่ดินออกขายทอดตลาดซึ่งระหว่างนั้น จ. ผู้ซื้อก็ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2524จำเลยทั้งสองจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยอมรับเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่เหลือและจำเลยทั้งสองได้นำเงินที่ได้ไปชำระแก่ ว. กับพวกแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการตามหน้าที่ ของผู้จัดการมรดกโดยชอบ เพราะหากให้ ว.กับพวกบังคับคดีโดยนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดก็อาจไม่ได้ราคาและอาจเกิดความเสียหายแก่ทายาทได้ ทั้งการที่จำเลยทั้งสอง ยอมปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยโอนที่ดินพิพาทให้ แก่ ผู้ซื้อตามข้อสัญญา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดหน้าที่แต่อย่างใด แม้ขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องคดีนี้ ที่ดินพิพาทยังไม่ได้โอนไปยังบุคคลภายนอกยังเป็นมรดกที่จำเลยทั้งสองสามารถจะนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ได้มีการโอนที่ดินพิพาทไปยังบุคคลภายนอกแล้วจึงไม่เป็นมรดกที่จะนำมาแบ่งแก่ทายาทได้อีก ตามคำขอท้ายฟ้องที่ ม. ได้รับมอบอำนาจจาก จ.ให้ฟ้องคดีนั้นระบุว่าขอให้บังคับจำเลยในคดีดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ซึ่งก็คือ ม. นั่นเอง ที่สัญญาประนีประนอมยอมความ ระบุว่าให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ ม. จึงตรงกับ คำขอท้ายฟ้อง เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายศาลย่อมพิพากษาตามยอมได้ประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้ทำตามสัญญา ประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ทั้งคดีดังกล่าว ก็ถึงที่สุดแล้ว การโอนที่ดินพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการโอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ คนละ 16,100,000 บาท รวมเป็นเงิน 48,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 2180ตำบลมหานาค (ปทุมวัน) อำเภอปทุมวัน (สำเพ็ง) กรุงเทพมหานครออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1และที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะขอให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2180 ตำบลมหานาค (ปทุมวัน)อำเภอปทุมวัน (สำเพ็ง) กรุงเทพมหานคร ได้หรือไม่ และโจทก์ที่ 1และที่ 2 มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งคนละเท่าใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่างเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของหลวงโทณะวณิกพันธ์ เจ้ามรดก ส่วนจำเลยทั้งสองต่างเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามคำสั่งศาล เจ้ามรดกมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกจำนวน 11 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยทั้งสอง เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2507มีทรัพย์สินเป็นมรดกหลายรายการ แต่ทรัพย์มรดกบางรายการ จำเลยทั้งสองได้จัดการแบ่งปันแก่ทายาทหมดแล้ว คงเหลือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2180 แปลงเดียวที่ยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทายาท โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2532 ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เดิมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2524 จำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่นายจินดา ชัยรัตน์ ในราคา30,000,000 บาท ฝ่ายผู้จะซื้อชำระราคาแล้ว 1,500,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยทั้งสองทำสัญญาด้วยต่อมานางวันดี นามนารถ กับพวกรวม 5 คน ทายาทของเจ้ามรดกฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งทรัพย์มรดก ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกให้แก่นางวันดีกับพวกเป็นเงิน 12,328,712.70 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้เอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแทน ซึ่งคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2531 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2532 นางเมรี่ รัตนราชชาติกุล ผู้รับมอบอำนาจจากนายจินดาฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยทั้งสองกับนางเมรี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสองยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ฝ่ายผู้ซื้อตามสัญญาและยอมรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ฝ่ายผู้ซื้อแล้วเมื่อวันที่ 25พฤษภาคม 2534 ดังนี้ เห็นว่าทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกคงเหลือที่ดินเพียงแปลงเดียวคือที่ดินพิพาท เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชำระเงินให้แก่นางวันดีกับพวกเป็นเงินประมาณ 22,000,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์มรดกเหลือเพียงพอจะชำระเงินให้แก่นางวันดีกับพวก และนางวันดีกับพวกก็จะบังคับคดีโดยนำที่ดินออกขายทอดตลาดซึ่งระหว่างนั้นนางเมรี่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายจินดาผู้ซื้อก็ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2524 จำเลยทั้งสองจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยอมรับเงินค่าซื้อที่ดินส่วนที่เหลือและจำเลยทั้งสองได้นำเงินที่ได้ไปชำระแก่นางวันดีกับพวกแล้วถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโดยชอบ เพราะหากให้นางวันดีกับพวกบังคับคดีโดยนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดก็อาจไม่ได้ราคาและอาจเกิดความเสียหายแก่ทายาทได้ ทั้งการที่จำเลยทั้งสองยอมปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ซื้อตามข้อสัญญาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดหน้าที่แต่อย่างใด
ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาทำนองว่า ขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2ยื่นฟ้องคดีนี้ ที่ดินพิพาทยังไม่ได้โอนไปยังบุคคลภายนอกยังเป็นมรดกที่จำเลยทั้งสองสามารถจะนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ได้มีการโอนที่ดินพิพาทไปยังบุคคลภายนอกแล้วดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่เป็นมรดกที่จะนำมาแบ่งแก่ทายาทได้อีก
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาทำนองว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นางเมรี่นั้นเป็นการไม่ชอบเพราะนางเมรี่ไม่ใช่คู่สัญญาจะซื้อขาย แต่คู่สัญญา คือนายจินดา ชัยรัตน์ การโอนที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายชอบที่ศาลจะเพิกถอนการโอนได้นั้น เห็นว่า ตามคำขอท้ายฟ้องที่นางเมรี่ได้รับมอบอำนาจจากนายจินดาให้ฟ้องคดีนั้น ระบุว่า ขอให้บังคับจำเลยในคดีดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งก็คือนางเมรี่นั่นเอง ที่สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่นางเมรี่จึงตรงกับคำขอท้ายฟ้อง เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายศาลย่อมพิพากษาตามยอมได้ ประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้ทำตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมทั้งคดีดังกล่าวก็ถึงที่สุดแล้ว การโอนที่ดินพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการโอน
ปัญหาต่อไปมีว่า เมื่อขายที่ดินพิพาทแล้วและจำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาจะซื้อขายมาอีก 28,500,000 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2จะได้รับส่วนแบ่งคนละเท่าใด ได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้นำเงินที่ได้จำนวน 22,313,856.34 บาท ไปชำระให้แก่นางวันดีกับพวกแล้วตามเอกสารหมาย ล.18 และ ล.19 คงเหลือเงินอยู่ประมาณ 6,000,000 บาท ซึ่งนางเมรี่พยานจำเลยเบิกความว่า นางเมรี่ได้หักไว้เป็นค่าจดทะเบียนโอนและค่าภาษีอากร ซึ่งต้องชำระประมาณ 7,000,000 บาท ตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดว่าค่าจดทะเบียนการโอนและค่าภาษีอากรฝ่ายผู้ขายเป็นผู้ออก ดังนี้ จึงไม่มีเงินเหลือที่จะนำมาแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ ส่วนเงินมัดจำจำนวน 1,500,000 บาทก็ได้ความตามเอกสารหมาย ล.2 ล.4 และ ล.5 ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่เหลือทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อีก ดังนั้น ปัญหาว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกคนละเท่าใดจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share