แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ซ.จำนำที่ดินให้แก่ ข.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2458 กรณีต้องบังคับตามประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.118 เมื่อยังไม่มีการไถ่ถอนจำนำและที่ดินยังไม่หลุดเป็นสิทธิแก่ ข.เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่า ซ.ยินยอมหรือศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ดังนั้นถ้าหาก ซ.และ ข.ยังมีชีวิตอยู่ ซ.ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนำได้ และ ข.ก็มีหน้าที่ให้ไถ่ถอนจำนำ แต่เมื่อ ซ.และ ข.ถึงแก่ความตายสิทธิและหน้าที่ของ ซ.และ ข.ซึ่งถือว่าเป็นมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 และ 1600 ผู้ร้องเป็นทายาท ซ. สิทธิและหน้าที่ของ ซ.ในการไถ่ถอนจำนำย่อมตกแก่ผู้ร้องด้วย เมื่อกองมรดกของ ข.ไม่มีทายาท กองมรดกของ ข.ย่อมตกแก่แผ่นดิน แต่แผ่นดินไม่ใช่ทายาทของ ข. ดังนี้ ทายาทของ ซ. ผู้จำนำจึงไม่สามารถทำการไถ่ถอนจำนำได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกของ ข.ขึ้น และตราบใดที่กองมรดกของ ข.ยังไม่มีผู้จัดการมรดก ผู้จำนำก็ไม่มีทางไถ่ถอนจำนำได้เลย การที่ผู้ร้องจะไถ่ถอนจำนำจากกองมรดกของ ข.จึงขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกของ ข.มีผู้จัดการมรดกเสียก่อน ในกรณีนี้จึงต้องถือว่าผู้ร้องซึ่งมีสิทธิไถ่ถอนจำนำเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของ ข.ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713