คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อฎีกาของจำเลยไม่มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิการเช่าในตึกพิพาทหรือไม่ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขออ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาเพื่อประสงค์จะให้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิการเช่าในตึกพิพาทแล้ว จำเลยจะอ้างพยานเพิ่มเติมอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกพิพาทซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของสิทธิการเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยให้การว่าโจทก์ตกลงให้จำเลยประกอบการค้าในตึกพิพาทได้ 30 ปี โดยจำเลยให้เงินโจทก์ 210,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและฟ้องแย้งว่าโจทก์ผิดข้อตกลงต้องคืนเงิน210,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงให้จำเลยที่ 1 อยู่ในตึกพิพาท 30 ปี และไม่เคยได้รับเงินจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เจ้าของตึกพิพาทได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว และได้ทำสัญญาให้จำเลยทั้งสองเช่าแทน จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขออ้างและสืบพยานเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งหยิบยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ มิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นไม่เป็นปัญหาพึงวินิจฉัย ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าพยานที่จำเลยที่ 1ขออ้างเพิ่มเติมได้มีขึ้นในภายหลังไม่อาจยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแต่ต้นได้ จึงขอให้ศาลฎีกาสั่งให้รับสัญญาเช่าดังกล่าวหรือสืบพยานเพิ่มเติมนั้น เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะอ้างพยานเพิ่มเติมดังกล่าวก็โดยมุ่งประสงค์ที่จะให้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิการเช่าในตึกพิพาทแล้ว ซึ่งปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิการเช่าในตึกพิพาทหรือไม่นั้น ไม่เป็นปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะอ้างพยานเพิ่มเติมตามที่ขอได้ และกรณีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องสืบพยานต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(2) ประกอบด้วยมาตรา 247 และมาตรา 88 วรรคสาม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share