คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6678/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้จำนองโดยสภาพเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานเสียก่อนการบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์จำนองจึงจะกระทำได้ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ทำสัญญาจำนองอันดับที่ 1 กับจำเลยไว้ก่อนก็ตาม แต่เมื่อการไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมซึ่งเป็นหนี้ประธานในคดีนี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาจำนองดังกล่าว ดังนี้โจทก์จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)เป็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระแต่กรณีของโจทก์เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงไม่ใช่กรณีที่จะบังคับเอาดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ตามมาตราดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมไปจนกว่าโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิจะได้รับชำระครบถ้วน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ และบังคับจำนอง เป็นเงิน228,142,339.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลย ยอมชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 200,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือนตามจำนวนเงินที่กำหนดให้เสร็จภายใน 3 ปี ถ้าหากผิดนัดเดือนใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดจำเลยยอมให้โจทก์บังคับคดีได้เต็มตามฟ้องโดยยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้วต่อมาจำเลยผิดนัด โจทก์ขอบังคับคดีและนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 369และ 9680 แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจดทะเบียนจำนอง ไว้กับโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนอง ดังกล่าวได้เงิน 166,000,000 บาท สำหรับทรัพย์จำนองทั้งสองแปลงนั้นจำเลยได้จดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้สินของจำเลยที่มีอยู่ก่อน หรือที่จะมีขึ้นในอนาคตกับโจทก์ในวงเงิน 30,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี และจำเลยได้จดทะเบียน ขึ้นเงินจำนองอีก 5,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 35,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามสัญญาเดิม ต่อมาจำเลยได้นำทรัพย์จำนอง ทั้งสองแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้กับ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน60,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อปี และจำเลย ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงประกันหนี้ของจำเลยที่มีอยู่ กับโจทก์อีกในวงเงิน 60,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 17.5 ต่อปี บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด(มหาชน) ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะ เป็นเจ้าหนี้จำนองอันดับ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต ชั้นทำบัญชีรายรับ และรายจ่ายและจัดส่วนเฉลี่ยหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ผู้รับจำนองทั้งสามอันดับดังกล่าว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน)ยื่นคำคัดค้านบัญชีส่วนแบ่งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาแล้วมีคำสั่งแก้ไขบัญชีส่วนแบ่งใหม่ โดยให้โจทก์ได้รับชำระเงินจากการขายทอดตลาดเป็นเงิน 48,457,824.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามสัญญาจำนองนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 จนถึง วันขายทอดตลาด ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด(มหาชน) ผู้รับจำนองอันดับที่ 2 ได้รับเงินส่วนที่เหลือจำนวน 51,586,536.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 38,631,391.35 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันขายทอดตลาดกับค่าฤชาธรรมเนียม โดยหักเงินจำนวน68,120.55 บาท ที่จำเลยชำระให้หลังฟ้องออกจากดอกเบี้ยก่อนหาก มีเงินเหลือจึงจ่ายให้โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองอันดับที่ 3
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีทำนองว่าหนี้ของโจทก์มีมากกว่าทรัพย์จำนองที่นำออกขายทอดตลาด โจทก์ควรได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแต่ผู้เดียว
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน)ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขบัญชีส่วนเฉลี่ยเกี่ยวกับหนี้จำนองอันดับที่ 1 ของโจทก์ โดยพิจารณา จากสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาจำนองเป็นหลักโดยกำหนดให้โจทก์ผู้รับจำนองอันดับที่ 1 ได้รับชดใช้ต้นเงินจำนวน 35,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน แต่ทั้งนี้มิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี และให้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน)ผู้รับจำนองอันดับที่ 2 ได้รับเงินส่วนที่เหลือ หากมีเงินเหลือจึงจ่ายให้โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองอันดับที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 369 และ 9680 แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 จำเลยได้นำที่ดินทั้งสองแปลงไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้สินต่าง ๆ ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน30,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี วันที่10 มิถุนายน 2520 จำเลยได้ขอขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท ส่วนเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสัญญาเดิม วันที่ 27 กรกฎาคม 2520 จำเลยนำที่ดินทั้งสองแปลงไปจดทะเบียนจำนอง ประกันหนี้ของจำเลยกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด(มหาชน) ผู้คัดค้าน เป็นจำนวนเงิน 30,000,000 บาท ดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน อันดับที่ 2 วันที่ 17 พฤษภาคม 2523 ตกลงแก้ไขอัตราดอกเบี้ย เป็นร้อยละ 20 ต่อปี วันที่ 19 สิงหาคม 2526 จำเลยได้ขอขึ้น เงินจำนองอีกจำนวน 30,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนอง 60,000,000 บาท เงื่อนไขต่าง ๆ เป็นไปตามสัญญาเดิม ในวันเดียวกันจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้สินต่าง ๆ ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อีกเป็นเงิน 60,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยจดทะเบียนจำนอง เป็นอันดับที่ 3 ต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงฟ้องบังคับจำนอง ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 228,142,339.62 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะ ชำระเสร็จ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า บัญชีส่วนเฉลี่ยที่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำขึ้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาจำนองอันดับที่ 1ของโจทก์มีผลเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมนั้นไม่ถูกต้อง เพราะหนี้ตามสัญญาจำนองได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 และวันที่ 10 มิถุนายน 2520 การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลเพียงให้หนี้เดิมระงับ แต่หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์มิได้ระงับหนี้จำนองจะมีเพียงใดต้องคำนวณนับแต่วันทำสัญญาจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยสำหรับหนี้จำนองอันดับที่ 1 ตั้งแต่ วันทำสัญญาจำนองแต่ละฉบับไปจนถึงวันที่มีการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น เห็นว่า หนี้จำนองโดยสภาพเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานเสียก่อนการบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์จำนองจึงจะกระทำได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ทำสัญญาจำนองอันดับที่ 1 กับจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2520 และวันที่ 10 มิถุนายน 2520 ก็ตาม แต่เมื่อการไม่ชำระหนี้ ตามคำพิพากษาตามยอมซึ่งเป็นหนี้ประธานในคดีนี้เพิ่งเกิดขึ้น ภายหลังวันทำสัญญาจำนองดังกล่าว โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยตั้งแต่ วันทำสัญญาจำนองหาได้ไม่
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองอันดับที่ 1 โดยคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเป็นต้นไป แต่มิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(1) เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระ แต่กรณีของโจทก์เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม จึงไม่ใช่กรณีที่จะบังคับเอาดอกเบี้ยค้างชำระ เกินกว่า 5 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมไปจนกว่าโจทก์ ในฐานะเจ้าหนี้จำนองอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิจะได้รับ ชำระครบถ้วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขบัญชีส่วนเฉลี่ยเกี่ยวกับหนี้จำนองอันดับ 1 ของโจทก์ โดยให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองอันดับที่ 1 ได้รับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมไปจนกว่าจะได้รับชำระครบถ้วนตามบุริมสิทธิ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share