แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยทั้งสองจะอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 107ประกอบ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจพ.ศ. 2521 มาตรา 60 และ 61 แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชารวมทั้งมีคำสั่งพักราชการโจทก์ในระหว่างการสอบสวนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาอันเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยเฉพาะของจำเลย ทั้งสองก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยทั้งสามฉบับดังกล่าวพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติถึงวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะ คำสั่งกระทรวงมหาดไทยทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นการพิจารณาทางปกครองของจำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่จึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 16แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539เฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 322/2541ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งพักราชการโจทก์เพื่อรอ ฟังผลการสอบสวนพิจารณาเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งให้นิยามคำว่า “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า”(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือ ชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติการวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียนแต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ” ดังนี้การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักราชการโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณามีผลทำให้กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ แม้จะเป็นการชั่วคราวแต่ก็ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2(พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539ที่ให้คำสั่งทางปกครองในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) คือ (1)การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การสั่งพักงาน หรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน หรือการให้พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการทำการพิจารณาทางปกครอง และมีคำสั่งทางปกครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จนต้องถูก สั่งพักราชการเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาย่อมเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามความหมาย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55แล้ว จึงชอบที่ศาลจะรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาดำเนินการ ต่อไปได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยทั้งสามฉบับ ได้แก่ คำสั่งที่ 293/2541, 321/2541 และ 322/2541และสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งเดิม และให้จำเลยทั้งสองกับพวกหยุดกระทำการอันเป็นการกระทำซ้ำและฝ่าฝืนต่อกฎหมายแก่โจทก์ในอนาคตอีกต่อไป พร้อมกับคำฟ้องโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษามาด้วย
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้งสองจะอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 107 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 60 และ 61 แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์รวมทั้งมีคำสั่งพักราชการโจทก์ในระหว่างการสอบสวนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาอันเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจ โดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นอ้างก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยทั้งสามฉบับดังกล่าวพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ประกาศใช้บังคับแล้วซึ่งตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539ได้บัญญัติถึงวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะ คำสั่งกระทรวงมหาดไทยทั้งสามฉบับตามฟ้องเป็นการพิจารณาทางปกครองของจำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องตกอยู่ในบังคับของมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539เฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 322/2541 ลงวันที่3 กรกฎาคม 2541 ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งพักราชการโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งให้นิยามคำว่า “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า”(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาตการอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียนแต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักราชการโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณามีผลทำให้กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ แม้จะเป็นการชั่วคราว แต่ก็ถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่ให้คำสั่งทางปกครองในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) คือ (1) การบรรจุ การแต่งตั้งการเลื่อนขั้นเงินเดือน การสั่งพักงาน หรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อนหรือการให้พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการทำการพิจารณาทางปกครอง และมีคำสั่งทางปกครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจนต้องถูกสั่งพักราชการเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา ย่อมเป็นการกระทำที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้วที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งว่า กรณียังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกเลิกและหยุดดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยทั้งสามฉบับตามฟ้อง และให้ยกฟ้องของโจทก์เสียนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป