แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายนั้นนาฬิกาของผู้เสียหายหลุดจากข้อมือ จำเลยที่ 1 กับพวกมิได้เข้าหยิบฉวยนาฬิกาแต่อย่างใด กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนถึงปากซอย แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่เมื่อทำร้ายผู้เสียหาย แล้วเห็นนาฬิกาของผู้เสียหายตกอยู่จึงมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน และเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและฐานลักทรัพย์เท่านั้น การทำร้ายร่างกายและการลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องให้ลงโทษในการกระทำความผิดดังกล่าว ศาลก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์อันเป็นเหตุในลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยอื่นที่ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89 แม้จำเลยอื่นจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยอื่นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอานาฬิกาข้อมือ 1 เรือนราคา 1,200 บาท ของนายประเคน บัวแก้ว ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ไม้ท่อนยาวประมาณ 1 เมตร ตีประทุษร้ายผู้เสียหายที่หน้าผากและแขนซ้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมนาฬิกา 1 เรือน ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามปล้นไปเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 340, 340 ตรี, 83 ริบไม้ท่อนของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75จำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำคุก คนละ 10 ปีจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 3ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 5 ปี ริบไม้ของกลางคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทวิศิษฐ์ อักษรแก้วมาเบิกความเป็นพยานว่า ผู้เสียหายได้มาแจ้งความกับพยานเวลาเที่ยงคืนเศษของวันที่ 13 เมษายน 2539 ว่า ถูกกลุ่มวัยรุ่น4 คน ร่วมกันทำร้ายชิงเอานาฬิกาข้อมือไปตรงบริเวณถนนยะรังซอย 3 ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีเมื่อประมาณ 10-20 นาที ที่ผ่านมาก่อนมาแจ้งความโดยแจ้งว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกลับมาจากบริเวณสะพานปลา แล้วพบกลุ่มวัยรุ่น 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์แบบมีพ่วงข้างนั่งได้หลายคนแวะมารับผู้เสียหายติดรถไปแล้วพาผู้เสียหายเข้าไปในซอยเกิดเหตุจากนั้นก็ร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้แจ้งรูปพรรณของคนร้าย เมื่อได้รับแจ้งแล้วพยานก็ได้วิทยุสั่งให้เจ้าหน้าที่สายตรวจสืบสวนจับกุมตัวคนร้ายหลังจากนั้นไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็ได้รับแจ้งทางวิทยุจากตำรวจสายตรวจว่าพบผู้ต้องสงสัยที่บริเวณโรงภาพยนตร์ ปัตตานีราม่า เขตตัวเมืองปัตตานีได้ควบคุมตัวไว้และให้ผู้เสียหายดูตัว ผู้เสียหายชี้ตัวยืนยันว่าเป็นคนร้ายจึงได้สอบปากคำผู้เสียหายไว้ สิบตำรวจโทชำนิ เช่งขุนทองผู้จับกุมจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ22.30 นาฬิกา ขณะที่พยานกับพวกกำลังปฏิบัติหน้าที่ตรวจพื้นที่โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุตำรวจปัตตานีว่ามีเหตุปล้นทรัพย์ที่บริเวณถนนยะรัง ซอย 2 ตำบลอาเนาะรูอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ได้แจ้งลักษณะการแต่งกายของคนร้ายและระบุจำนวนคนร้าย 4 คน เป็นชายวัยรุ่นและใช้รถจักรยานยนต์แบบพ่วงข้าง 1 คันเป็นยานพาหนะ คนร้ายไม่มีอาวุธคนร้ายได้นาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายไป 1 เรือน เมื่อได้รับแจ้งแล้วพยานก็ออกตรวจท้องที่จนถึงถนนปัตตานีภิรมย์ บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ ปัตตานีราม่าห่างที่เกิดเหตุประมาณ 600 เมตรได้พบชายวัยรุ่น 4 คน ขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างลักษณะการแต่งกายตรงกับที่ได้รับแจ้งจึงเข้าตรวจค้น ในการค้นตัวจำเลยที่ 1 พบนาฬิกาข้อมือ 1 เรือน อยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านข้างของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายอาซันสาและ ไม่พบสิ่งของใด ๆ จึงได้นำตัวจำเลยทั้งสามและนายอาซันพร้อมทั้งของกลางให้ผู้เสียหายดูตัว ผู้เสียหายยืนยันว่าเป็นคนร้าย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งได้รับแจ้งจากผู้เสียหายภายหลังเกิดเหตุในเวลากระชั้นชิดกับการเกิดเหตุ โดยผู้เสียหายได้ระบุลักษณะและพฤติการณ์ของความผิดรูปพรรณของคนร้ายตลอดจนความเสียหายที่ได้รับ และมีการติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกได้ภายหลังจากนั้นในเวลากระชั้นชิดและจำเลยที่ 1 กับพวกก็อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดเหตุเมื่อพยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นพยานบอกเล่า กรณีรับฟังได้ในเบื้องต้นแต่เพียงว่า มีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับผู้เสียหายจริงเท่านั้น ผู้เสียหายได้ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 กับพวกได้ขับขี่รถจักรยานยนต์พ่วงข้างผ่านมาที่ผู้เสียหายยืนอยู่โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 2 ได้จอดรถและถามผู้เสียหายว่าจะไปที่ไหน ผู้เสียหายตอบว่าจะไปที่ตลาดโต้รุ่ง จำเลยที่ 2พูดขอเงินผู้เสียหาย 20 บาท ผู้เสียหายบอกว่าอยากได้เงินก็ให้ไปส่งผู้เสียหายที่ตลาดโต้รุ่ง ผู้เสียหายได้ขึ้นรถไปกับจำเลยที่ 1 กับพวก เมื่อไปถึงบริเวณหน้าโรงงานฆ่าไก่ จังหวัดปัตตานี จำเลยที่ 2 ได้จอดรถ จากนั้นก็ลงไปหยิบท่อนไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ซึ่งวางอยู่ที่บริเวณกองฟืนมาตีผู้เสียหายบริเวณศีรษะและแขน 2 ครั้ง ทำให้นาฬิกาข้อมือยี่ห้อมิโด้สีเงินที่ผู้เสียหายสวมอยู่ที่ข้อมือซ้ายขาดหลุดจากข้อมือของผู้เสียหาย จากนั้นชาย 3 คน ที่เหลือพากันวิ่งเข้ามาและทำร้ายเตะต่อยผู้เสียหายบริเวณลำตัวและหลังหลายครั้ง ผู้เสียหายไม่สามารถจำได้ว่ากี่ครั้งเนื่องจากชุลมุนมากเมื่อผู้เสียหายตั้งตัวได้ได้วิ่งหนีออกไปทางถนนใหญ่ ชายทั้งสี่คนยังวิ่งไล่ตามมาตลอดจนกระทั่งถึงบริเวณปากซอยจึงได้หยุดวิ่งไล่ตามผู้เสียหายจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนในขณะที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กับพวกประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย นาฬิกาของผู้เสียหายหลุดจากข้อมือของผู้เสียหายเนื่องจากถูกทำร้าย เมื่อนาฬิกาหลุดจากข้อมือของผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือพวกของจำเลยที่ 1 เข้าหยิบฉวยนาฬิกาแต่อย่างใดไม่ แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนถึงปากซอยข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายนั้นมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แต่เมื่อทำร้ายผู้เสียหายแล้วเห็นนาฬิกาของผู้เสียหายตกอยู่จึงมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนและเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและฐานลักทรัพย์เท่านั้น การทำร้ายร่างกายและการลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำในความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องให้ลงโทษในการกระทำความผิดดังกล่าวศาลก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่าศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนประกอบการพิจารณาของศาลได้เพราะสำนวนการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายย่อมใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาลได้ เมื่อปรากฏว่าพันตำรวจโทวิศิษฐ์พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งการเกิดเหตุในทันทีหลังจากเกิดเหตุและสิบตำรวจโทชำนิได้จับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกได้ในเวลากระชั้นชิดกับการเกิดเหตุและจับได้ในบริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุอีกทั้งค้นพบนาฬิกาของกลางได้ที่จำเลยที่ 1 และได้ทำการสอบสวนผู้เสียหายในขณะนั้น ซึ่งน่าเชื่อว่าผู้เสียหายได้ให้การไปตามความเป็นจริงที่ได้ประสบมา ทั้งไม่ปรากฏว่าคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนนั้นได้มาโดยไม่ชอบแต่อย่างใดจึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายประกอบได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์จะมีผลไปถึงจำเลยอื่นด้วยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุในลักษณะคดีย่อมมีผลถึงจำเลยอื่นที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89 แม้จำเลยอื่นจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยอื่นได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, ฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามมาตรา 335(1)(7) วรรคสาม, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจำคุก 4 เดือน ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์จำคุก 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายจำคุกคนละ 8 เดือน ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์จำคุกคนละ1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 10 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3