คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3266/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ร้อยตำรวจโทอ.และพันตำรวจโทพ.เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง และเป็นเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1502/2530 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการปลอมหนังสือเดินทางไปต่างประเทศการล่อลวงหญิงไปเพื่อการค้าประเวณีหรือในทางมิชอบในต่างประเทศการจัดส่งคนงานไปต่างประเทศโดยมิชอบ จึงเป็นพนักงานสอบสวนของหน่วยเฉพาะกิจ และตามข้อ 5.3 ของคำสั่งดังกล่าวให้หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจมีอำนาจเสนอขออนุมัติกรมตำรวจให้พนักงานสอบสวนของหน่วยเฉพาะกิจสอบสวนคดีความผิดตามคำสั่งดังกล่าวได้ และพันตำรวจโทพ.รักษาราชการแทนหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจได้ขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจให้พันตำรวจโทพ.และร้อยตำรวจโทอ.ทำการสอบสวนคดีความผิดตามคำสั่งดังกล่าวและกรมตำรวจก็ได้อนุมัติแล้ว ร้อยตำรวจโทอ.และพันตำรวจโทพ. จึงมีอำนาจทำการสอบสวนคดีดังกล่าว การจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจตามคำสั่งกรมตำรวจเป็น เพียงการปฏิบัติงานภายในกรมตำรวจ มิใช่เป็นการ แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ ไม่จำต้องตรา เป็นพระราชกฤษฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีร่วมกันจัดหางานให้แก่นางสาววัชราภรณ์ เจริญจันทร์เทพและนางสาวสุภา ช่วยศรี คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางและจำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นได้ร่วมกันเป็นธุระจัดหาล่อไป ชักพาไปเพื่ออนาจารซึ่งนางสาววัชราภรณ์ เจริญจันทร์เทพ อายุ 25 ปีและนางสาวสุภา ช่วยศรี อายุ 25 ปี ผู้เสียหายทั้งสองโดยใช้อุบายหลอกลวงว่าสามารถติดต่อผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นและทำบัตรนักเรียนให้เรียนภาษาญี่ปุ่นได้ด้วยเมื่อเรียนจบสามารถเรียนด้านธุรกิจหลักสูตรระยะสั้นได้ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงจำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีเจตนาจะส่งผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น แต่มีเจตนาจะส่งผู้เสียหายทั้งสองไปเพื่อทำการค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่นจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองกับพวกทำให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อจึงสมัครไปทำงานแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันส่งผู้เสียหายทั้งสองไปยังประเทศญี่ปุ่นให้พวกของจำเลยทั้งสองนำไปขายให้แก่ร้านมีชื่อแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการค้าประเวณีสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีซึ่งใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ร่วมกันพาผู้เสียหายทั้งสองออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศญี่ปุ่นให้พวกของจำเลยทั้งสองนำไปขายให้แก่ร้านมีชื่อแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเพื่อรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมกับผู้อื่นอันเป็นการค้าประเวณี โดยผู้เสียหายทั้งสองถูกขู่บังคับให้ทำการค้าประเวณีเพื่อชดใช้หนี้ที่ถูกซื้อตัวมาหากขัดขืนหรือหลบหนีจะถูกทำร้ายร่างกายและส่งแก๊งยากูซ่าทั้งนี้จำเลยทั้งสองกับพวกได้กระทำเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 283, 320พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง การสอบสวนไม่ชอบเพราะความผิดกระทำลงนอกราชอาณาจักรไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ เจ้าพนักงานตำรวจหน่วยเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการปลอมหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ การล่อลวงหญิงไปเพื่อการค้าประเวณีหรือในทางมิชอบในต่างประเทศ การจัดหาคนงานส่งไปต่างประเทศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่มีอำนาจสอบสวนเพราะมิใช่เป็นพนักงานสอบสวนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคืออธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทน พันตำรวจโทพรภัทร์ สุยะนันท์ และร้อยตำรวจโทอมฤต บูรณะกิจเจริญซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีนี้มิได้รับมอบหมายหน้าที่จากอธิบดีกรมอัยการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสาววัชราภรณ์ เจริญจันทร์เทพและนางสาวสุภา ช่วยศรี ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้เรียกนางสาววัชราภรณ์ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และนางสาวสุภาว่า โจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคหนึ่ง, 320 วรรคสอง, 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 10 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานะเป็นธุระจัดหาโดยใช้อุบายหลอกลวงหญิงไปเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคหนึ่ง และฐานพาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ผู้ถูกพาตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 320 วรรคสอง กับผิดฐานพาหญิงออกนอกราชอาณาจักรเพื่อรับจ้างให้เขาทำเมถุนกรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พ.ศ. 2471 มาตรา 4 วรรคหนึ่งแต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าร้อยตำรวจโทอมฤต บูรณะกิจเจริญ และพันตำรวจโทพรภัทร์ สุยะนันทน์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจโทอมฤต และพันตำรวจโทพรภัทร์เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1502/2530 เรื่องการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการปลอมหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ การล่อลวงหญิงไปเพื่อการค้าประเวณีหรือในทางมิชอบในต่างประเทศ การจัดส่งคนงานไปต่างประเทศโดยมิชอบซึ่งออกโดยพลตำรวจโทแสวง ธีระสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมตำรวจปรากฏตามเอกสารหมาย จ.74 ร้อยตำรวจโทอมฤตและพันตำรวจโทพรภัทร์เป็นเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งฉบับนี้จึงเป็นพนักงานสอบสวนของหน่วยเฉพาะกิจ และตามข้อ 5.3 ของคำสั่งฉบับดังกล่าวให้หัวหน้าเฉพาะกิจมีอำนาจเสนอขออนุมัติกรมตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนของหน่วยเฉพาะกิจสอบสวนคดีความผิดตามคำสั่งที่ 1502/2530 ได้ และพันตำรวจโทพรภัทร์รักษาราชการแทนหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจได้ขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจให้พ้นตำรวจโทพรภัทร์และร้อยตำรวจโทอมฤตพนักงานสอบสวนของหน่วยเฉพาะกิจทำการสอบสวนคดีนี้ ปรากฏตามเอกสารหมายจ.75 และพลตำรวจโทประวิทย์ วงศ์วิเศษผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจก็ได้อนุมัติแล้ว ดังนั้น ร้อยตำรวจโทอมฤตและพันตำรวจโทพรภัทร์จึงมีอำนาจทำการสอบสวน และเป็นการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพราะเป็นการแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจนั้น เห็นว่าการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1502/2530 เป็นเพียงการปฏิบัติงานภายในกรมตำรวจ มิใช่เป็นการแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ จึงไม่จำต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา และเมื่อคดีนี้การสอบสวนชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องได้”
พิพากษายืน

Share