แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ก่อสร้างโรงงานและกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กผนังอิฐบล็อกที่พิพาทบนที่ดินของโจทก์ ต่อมาจำเลยกับพวกได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตสำนักงานสูง 4 ชั้นชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เป็นเหตุให้กำแพงพิพาทมีรอยแตกร้าวเป็นเส้น เฉพาะกำแพงช่องที่ 1 ที่ 5 และที่ 22 รอยแตกร้าวของปูนเป็นช่องใหญ่ประมาณ1 นิ้ว ช่องผนังกำแพงที่แตกร้าวเป็นเส้นมีจำนวน 14 ช่อง และบริเวณแนวกำแพงที่โอนเอน*เข้ามาจากระดับตั้งฉากเดิม เมื่อนับจากผนังกำแพงใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลังอาคารสำนักงานของจำเลยผนังกำแพงเอน*จากแนวตั้งฉากประมาณ4เซนติเมตรและเอน*เข้าไปด้านในจนถึงจุดที่เอน*มากที่สุดห่างจุดแรก 9 เมตร มีความเอน*ประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อความเสียหายของกำแพงพิพาทมีเพียงบางส่วน จำนวน 14 ช่องของจำนวนกำแพงพิพาทซึ่งมีทั้งหมด22 ช่อง ถือได้ว่ามีความเสียหายมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำแพงพิพาท อีกทั้งกำแพงพิพาทยังเอียงจากแนวระดับตั้งฉากเดิมอีกด้วยประกอบกับความเอียงของกำแพงมิได้อยู่คงที่หากแต่มีการเอียงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลให้กำแพงพิพาทส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย มีโอกาสเอียงไปตามแรงดึงของกำแพงส่วนที่เอียงได้ เมื่อได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยแล้ว การให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงพิพาทและก่อสร้างใหม่ย่อมมีความเหมาะสมกว่าให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่เฉพาะส่วนที่เสียหาย แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 435 ที่บัญญัติให้บุคคลใดที่จะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น ให้บุคคลนั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้ก็ตามแต่ในการก่อสร้างอาคารของจำเลย จำเลยมิได้อาศัยหรือใช้กำแพงพิพาทของโจทก์จำเลยเพียงแต่ก่อสร้างอาคารชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เท่านั้น เมื่อศาลได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการก่อสร้างอาคารชิดกำแพงพิพาทรวมทั้งที่ได้กำหนดให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่ให้แก่โจทก์แล้วถือได้ว่าได้มีการบำบัดปัดป้องภยันตรายในระดับหนึ่งแล้วกรณีจึงยังไม่สมควรที่จะให้จำเลยรื้ออาคารที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้นอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2536 จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงสี่ชั้นและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเพิ่มเติมโดยมิได้รับอนุญาตจากทางราชการบนที่ดิน ของจำเลยที่ 1ชิดรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กของโจทก์ อีกทั้งก่อสร้างท่อระบายน้ำท่อโสโครก และเปิดช่องหน้าต่างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้เศษวัสดุก่อสร้างตกเข้าในที่ดินโจทก์ ประมาณเดือนตุลาคม 2536อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างเพิ่มเติมทรุดตัว น้ำหนักของอาคารกดทับรั้วคอนกรีตโจทก์ เป็นเหตุให้รั้วคอนกรีตของโจทก์เริ่มแตกร้าวและแตกร้าวเพิ่มขึ้นตามการทรุดตัวของอาคารที่ก่อสร้างเพิ่มเติม การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหายต้องก่อสร้างรั้วคอนกรีตใหม่ มีความสูง 3 เมตรยาว 68 เมตร เป็นพื้นที่ 204 ตารางเมตร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงสี่ชั้นและอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงชั้นเดียวด้านหลังตลอดแนวในส่วนที่ต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตออกจากรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กของโจทก์ กับให้รื้อถอนท่อระบายน้ำและท่อน้ำโสโครกมิให้รุกล้ำที่ดินโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนารื้อถอนอาคารที่ต่อเติมท่อระบายน้ำ ท่อโสโครก โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง และให้ร่วมกันก่อสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 3 เมตร ยาว 68 เมตรโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 510,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุที่รั้วของโจทก์แตกร้าวเนื่องจากการก่อสร้างฐานรากไม่ดีและเกิดจากการทรุดตัวของดินตามปกติ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารได้ รั้วของโจทก์ร้าวเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องรื้อทำใหม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างกำแพงรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร ใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 346,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างกำแพงรั้วอิฐบล็อกตัน มีเสาคอนกรีตเสริมเหล็กสูง3 เมตร ยาวประมาณ 51 เมตร ให้โจทก์ใหม่ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 260,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในปี 2534 โจทก์ได้ก่อสร้างโรงงานและกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กผนังอิฐบล็อกทั้งสี่ด้านบนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 55053 ของโจทก์ ประมาณกลางปี 2535 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารคอนกรีตสำนักงานสูง 4 ชั้นชิดกำแพงพิพาทของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออก โดยด้านหลังอาคารสำนักงานได้สร้างเป็นอาคารคอนกรีตโรงงานชั้นเดียวขนานกำแพงพิพาทสุดเขตที่ดิน การก่อสร้างของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นเหตุให้กำแพงพิพาทแตกร้าวและเอียงได้รับความเสียหาย กำแพงพิพาทสูง 3 เมตร ยาว 68 เมตร มีเสากำแพงแบ่งออกเป็น 22 ช่อง คิดเป็นพื้นที่ 204 ตารางเมตร
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่เพียงใด ในปัญหานี้ปรากฏจากการเดินเผชิญเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ว่า กำแพงพิพาทมีรอยแตกร้าวเป็นเส้นเฉพาะกำแพงช่องที่ 1 ที่ 5 และที่ 22 รอยแตกร้าวของปูนเป็นช่องใหญ่ประมาณ 1 นิ้ว ช่องผนังกำแพงที่แตกร้าวเป็นเส้นมีจำนวน 14 ช่อง และบริเวณแนวกำแพงที่โอนเอนเข้ามาจากระดับตั้งฉากเดิม เมื่อนับจากผนังกำแพงใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลังอาคารสำนักงานของจำเลย ผนังกำแพงเอนจากแนวตั้งฉากประมาณ 4 เซนติเมตร และเอนเข้าไปด้านในจนถึงจุดที่เอนมากที่สุดห่างจุดแรก 9 เมตร มีความเอนประมาณ 15 เซนติเมตรตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 กันยายน 2538เห็นว่า ความเสียหายของกำแพงพิพาทมีเพียงบางส่วน จำนวน 14 ช่องของจำนวนกำแพงพิพาทซึ่งมีทั้งหมด 22 ช่อง ความเสียหายในส่วนนี้ถือได้ว่ามีความเสียหายมากเพราะจำนวนช่องกำแพงที่เสียหายนั้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำแพงพิพาท อีกทั้งกำแพงพิพาทยังเอียงจากแนวระดับตั้งฉากเดิมอีกด้วย โดยได้ความจากนายบรรจงโพธิ์ปฐม พยานโจทก์ว่า ประมาณปลายปี 2537 กำแพงพิพาทมีความเอียงเข้ามาในที่ดินโจทก์ประมาณ 5 เซนติเมตร จากแนวตั้งฉากเดิมและนายพนม อ่ำตระกูล ระบุว่า ประมาณต้นปี 2538 วัดความเอียงจากระดับแนวเส้นตรงกำแพงจะเอียงเข้ามาประมาณ 10 เซนติเมตรจึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าความเอียงของกำแพงมิได้อยู่คงที่มีการเอียงอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งครั้งหลังสุดที่ศาลชั้นต้นได้เดินเผชิญสืบ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 กำแพงพิพาทมีความเอียงถึง 15 เซนติเมตร ความเอียงของกำแพงพิพาทเกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นนี้ย่อมเป็นผลให้กำแพงพิพาทส่วนอื่นที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย มีโอกาสเอียงไปตามแรงดึงของกำแพงส่วนที่เอียงได้เมื่อได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยแล้ว การให้จำเลยจัดการรื้อถอนกำแพงพิพาทและก่อสร้างใหม่ตามที่นายพนมเบิกความไว้ย่อมมีความเหมาะสมกว่าให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่เฉพาะส่วนที่เสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารของจำเลยตามฟ้องหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 435 บัญญัติว่า บุคคลใดจะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของผู้อื่น บุคคลนั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องกันภยันตรายนั้นเสียได้ แม้บทบัญญัติมาตรานี้จะให้อำนาจโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยจัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายอันพึงเกิดจากอาคารที่จำเลยได้ก่อสร้างไว้ก็ตาม แต่ตามภาพถ่ายรูปที่ 15 เอกสารหมาย จ.15 ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารบนกำแพงพิพาทของโจทก์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ก่อสร้างบนกำแพงพิพาทของโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา ดังนั้นในการก่อสร้างอาคารของจำเลยจึงมิได้อาศัยหรือใช้กำแพงพิพาทของโจทก์ คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารชิดกำแพงพิพาทของโจทก์เท่านั้น เมื่อได้คำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการก่อสร้างอาคารชิดกำแพงพิพาทรวมทั้งที่ได้กำหนดให้จำเลยก่อสร้างกำแพงใหม่ให้แก่โจทก์แล้ว ถือได้ว่ามีการบำบัดปัดป้องภยันตรายในระดับหนึ่งแล้ว กรณีจึงยังไม่สมควรที่จะให้จำเลยรื้ออาคารที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 1620/2492 ที่โจทก์อ้างนั้นข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3