คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ขณะที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกแบ่งที่ดินจำนวน 5 แปลง ให้แก่ทายาท 5 คนแต่ยังไม่ได้โอนเปลี่ยนชื่อ เมื่อเจ้ามรดกตายลงผู้จัดการมรดกกลับไม่โอนที่ดินตามที่ได้แบ่งไว้ดังกล่าวให้แก่ทายาทแต่ได้จัดการรวมและแบ่งที่ดินใหม่หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้จัดการมรดกได้โอนขายที่ดินซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ได้ขออายัดไว้แล้วเป็นจำนวนเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ดินมรดก ทั้งไม่นำเงิน ที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทฝ่ายผู้คัดค้าน ส่อเจตนาทุจริต ในการจัดการกองมรดก สมควรสั่งถอนผู้จัดการมรดกนั้น เป็นข้อที่มิได้ปรากฏในคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อปรากฏว่าผู้จัดการมรดกตกลงแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่ทายาทอื่น ๆ ได้หมดแล้ว คงเหลือแต่ส่วนแบ่งของผู้คัดค้าน ซึ่งไม่ตกลงกัน โดยผู้คัดค้านอ้างว่าส่วนแบ่งของตนไม่เป็นธรรม จึงเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกมิได้เพิกเฉยต่อหน้าที่ส่วนการที่ผู้จัดการมรดกไม่ได้จัดทำบัญชี ทรัพย์มรดกในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่เหตุที่จะต้องถอน จากการเป็นผู้จัดการมรดกเสมอไป และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1731 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกโดยไม่สุจริตทั้งได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทส่วนมากไปแล้ว แสดงว่าได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่สมควรถอนผู้จัดการมรดกรายนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งนางสาวยี่โถ โดดโกรกกราก เป็นผู้จัดการมรดกของนายเพิ้ง โดดโกรกกรากผู้ตาย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งให้นางสาวยี่โถ โดดโกรกกราก เป็นผู้จัดการมรดกของนายเพิ้ง โดดโกรกกราก ผู้ตาย ตามคำร้องขอ
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า นายเพิ้ง โดดโกรกกรากผู้ตายเป็นปู่ของผู้คัดค้านทั้งสอง บิดาของผู้คัดค้านทั้งสองถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตายต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวยี่โถ โดดโกรกกราก เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหลังจากนั้นนางสาวยี่โถไม่แบ่งปันทรัพย์มรดก ทั้งละเลยเพิกเฉยไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกตามหน้าที่ และปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์มรดกขอให้มีคำสั่งถอนนางสาวยี่โถออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้จัดการมรดกยื่นคำแถลงว่า ผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการจัดการมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย และมิได้ประวิงให้ล่าช้าหรือปิดบังทรัพย์มรดกแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรสั่งถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแทนหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านที่ 1ฎีกาว่า ขณะที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกแบ่งที่ดินจำนวน5 แปลง ให้แก่ทายาท 5 คน แต่ยังไม่ได้โอนเปลี่ยนชื่อเมื่อเจ้ามรดกตายลงผู้จัดการมรดกกลับไม่โอนที่ดินตามที่ได้แบ่งไว้ดังกล่าวให้แก่ทายาท แต่ได้จัดการรวมและแบ่งที่ดินใหม่หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ผู้จัดการมรดกได้โอนขายที่ดินซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ได้ขออายัดไว้แล้วเป็นจำนวนเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ดินมรดกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทฝ่ายผู้คัดค้าน ส่อเจตนาทุจริตในการจัดการกองมรดก สมควรสั่งถอนผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่าข้อฎีกาดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างให้ปรากฏในคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้จัดการมรดกไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาและแบบตามที่กฎหมายกำหนดไว้จึงมีเหตุควรสั่งถอนผู้จัดการมรดก ศาลฎีกาพิจารณาแล้วคดีได้ความจากทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้จัดการมรดกว่า ผู้จัดการมรดกตกลงแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่ทายาทอื่น ๆได้หมดแล้ว คงเหลือแต่ส่วนแบ่งของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งไม่ตกลงกันโดยผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าส่วนแบ่งของตนไม่เป็นธรรม เห็นว่าผู้จัดการมรดกมิได้เพิกเฉยต่อหน้าที่ ส่วนการที่ผู้จัดการมรดกไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกในเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่เหตุที่จะต้องถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสมอไป และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1731 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่ามีเหตุสมควรที่จะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยไม่สุจริตแต่ประการใดทั้งได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทส่วนมากไปแล้ว แสดงว่าได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอดพฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่สมควรถอนผู้จัดการมรดก
พิพากษายืน

Share