คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์กระทำความผิดก่อน วันที่ 9 มิถุนายน 2539 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออก จากงานเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 ก่อน พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ ต้องถือว่าโจทก์มิได้เคยถูกลงโทษ จำเลยจึง ต้องรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิม เงินเดือนเดิม พร้อมค่าจ้างนับแต่วันออกจากงานถึงวันรับกลับเข้าทำงาน และเงินโบนัสแก่โจทก์ พระราชบัญญัติดังกล่าวที่โจทก์อ้าง เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในเรื่องที่เกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และแม้โจทก์ได้กระทำความผิดวินัยก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 จำเลยมีคำสั่งลงโทษทางวินัยลงวันที่ 27 สิงหาคม 2539 ให้ออกจากงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2539 ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ใช้บังคับซึ่งต้องถือว่าโจทก์มิได้เคยถูกลงโทษทางวินัยตามมาตรา 5 ก็ตาม แต่เนื่องจากมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่าการล้างมลทินตามมาตรา 5 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น การล้างมลทินให้โจทก์จึงเป็นเพียงให้ถือว่าโจทก์มิได้เคยถูกลงโทษทางวินัยไม่มีมลทิน ไม่เสียสิทธิหรือขาดคุณสมบัติภายภาคหน้าเท่านั้นดังนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยต้องรับ โจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า ตำแหน่งเดิมหรือเรียกค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าตำแหน่งเดิมในอัตราค่าจ้างเดิมโดยนับอายุการทำงานต่อ จ่ายค่าจ้างระหว่างเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานพร้อมเงินโบนัสหากไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงค่าจ้างคิดถึงอายุ 60 ปี เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินโบนัส เงินบำเหน็จพิเศษ ค่าชดเชย ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 5,571,613 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินสะสมส่วนที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนและผลประโยชน์จำนวน 30,436.39 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6เป็นเงินของโจทก์ จำเลยต้องจ่ายเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 30,436.39 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์กระทำความผิดก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2539 ก่อนพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ใช้บังคับต้องถือว่าโจทก์มิได้เคยถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิม เงินเดือนเดิม พร้อมค่าจ้างนับแต่วันออกจากงานถึงวันรับกลับเข้าทำงานและเงินโบนัสแก่โจทก์ และปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง โจทก์ก็ชอบที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในเรื่องที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ข้อเท็จจริงยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้กระทำความผิดวินัยก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 จำเลยมีคำสั่งลงโทษทางวินัยลงวันที่27 สิงหาคม 2539 ให้ออกจากงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่31 สิงหาคม 2539 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ดังนั้นต้องถือว่าโจทก์มิได้เคยถูกลงโทษทางวินัยตามมาตรา 5 แต่มาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่า การล้างมลทินตามมาตรา 5ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น การล้างมลทินให้โจทก์จึงเป็นเพียงให้ถือว่าโจทก์มิได้เคยถูกลงโทษทางวินัยไม่มีมลทินไม่เสียสิทธิหรือขาดคุณสมบัติภายภาคหน้าเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าตำแหน่งเดิมหรือเรียกค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยได้
พิพากษายืน

Share