คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไปขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสินพบว่าสมุดฝากเงินของโจทก์ซึ่งเก็บไว้ที่ธนาคารมีเงินเหลืออยู่ น้อยกว่าที่ฝากไว้จริง และตรวจสอบสมุดฝากเงินของ ฉ. ภริยาโจทก์ และสมุดฝากเงินของ จ. บุตรโจทก์ก็พบว่าเงินในสมุดฝากเงินเหลือน้อยผิดปกติเช่นกัน โจทก์จึงขอตรวจสอบ ใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานของธนาคารออมสินปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์ตรวจสอบใบถอนเงินตามที่โจทก์ขอตามสิทธิและความจำเป็น อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 13 โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ภริยาและบุตรเสียหาย เพราะโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ ภริยาและบุตรถูกคนร้ายปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีหรือไม่เพียงใด และไม่อาจเอาผิดกับผู้รับผิดชอบของธนาคารออมสินได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 จำคุกคนละ 1 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 โจทก์ไปขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี พบว่าสมุดฝากเงินของโจทก์ซึ่งเก็บไว้ที่ธนาคารมีเงินเหลืออยู่เพียง 430 บาทอันเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่ฝากไว้จริง และตรวจสอบสมุดฝากเงินของนางฉลวย กล้าธัญกรณ์ ภริยาโจทก์ และสมุดฝากเงินของเด็กชายจตุรงค์ กล้าธัญกรณ์ บุตรโจทก์ก็พบว่าเงินในสมุดฝากเงินเหลือน้อยผิดปกติเช่นกัน โจทก์จึงขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 3 ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาหนองฉาง ปฏิเสธโดยบอกให้โจทก์ทำคำร้องขอตรวจสอบใบถอนเงินก่อน ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2537 โจทก์ทำคำร้องขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ นางฉลวยและเด็กชายจตุรงค์ของปี 2537 หลังจากนั้นวันที่ 15 ธันวาคม 2537โจทก์ นางฉลวยและเด็กชายจตุรงค์มาตรวจสอบใบถอนเงินปรากฏว่ามีผู้ทุจริตปลอมลายมือชื่อโจทก์ นางฉลวยและเด็กชายจตุรงค์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ นางฉลวยและเด็กชายจตุรงค์รวมเป็นเงิน 35,700 บาท โจทก์จึงขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีของปี 2536 ต่อไป แต่ไม่อาจตรวจสอบได้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าฝากเงินไว้กับธนาคารออมสิน สาขาหนองฉาง มาเป็นเวลาหลายปีมาขอถอนเงินจากบัญชี แต่พบว่าจำนวนเงินในสมุดฝากเงินซึ่งเก็บไว้ที่ธนาคารเหลือน้อยผิดปกติโจทก์เกิดความสงสัยจึงขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ภริยาและบุตรแต่แทนที่จะได้รับความสนใจจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการหรือจากพนักงานอื่นที่เกี่ยวข้องของธนาคารในการช่วยเหลือให้ความสะดวกและให้ความสงเคราะห์เพื่อให้โจทก์ได้รับความกระจ่างหมดข้อสงสัยโดยบริการให้โจทก์ได้ตรวจสอบใบถอนเงินตามต้องการหรือหากมีข้อขัดข้องด้วยระเบียบประการใดก็น่าจะแนะนำและชี้แจงโดยมุ่งให้โจทก์ได้รับผลสำเร็จโดยรวดเร็ว ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของพนักงานธนาคารออมสินข้อ 13 ตามเอกสารหมาย ล.2 แต่จำเลยที่ 3 กลับมีพฤติการณ์ในเชิงปฏิเสธโดยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต้องยื่นคำร้องขอตรวจสอบใบถอนเงินก่อนแต่แล้วกลับปล่อยให้โจทก์นั่งรอ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 หรือพนักงานของธนาคารคนใดมาสอบถามหรือให้ความสะดวกแก่โจทก์ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาในการทำคำร้องจำเลยนำสืบรับว่าเป็นสิทธิของโจทก์หรือผู้เป็นเจ้าของบัญชีที่จะขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากได้โดยไม่จำต้องระบุไว้ในระเบียบการธนาคารออมสิน ว่า เจ้าของบัญชีจะต้องทำคำร้องก่อนด้วยแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ต้องการปัดภาระของโจทก์ให้พ้นไป มิฉะนั้นเพียงแต่การขอตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของปี 2537 คงไม่ต้องใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2537 โจทก์ ภริยา และบุตรจึงได้ตรวจสอบใบถอนเงินดังกล่าวและเมื่อผลการตรวจสอบโจทก์ ภริยาและบุตรทราบว่าเงินฝากในบัญชีของตนทั้งสามบัญชีมีผู้ทุจริตปลอมลายมือชื่อ เจ้าของบัญชีและลายมือชื่อผู้มอบฉันทะลักลอบถอนเงินออกจากบัญชีรวมเป็นเงิน35,700 บาท แล้ว โจทก์จึงขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 ต่อไป แทนที่จำเลยที่ 3 จะทำบันทึกความต้องการของโจทก์ไว้แล้วนัดให้โจทก์ ภริยาและบุตรมาตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536ก็คงไม่เกิดปัญหาเป็นคดีนี้ขึ้น จำเลยที่ 3 กลับบอกโจทก์ว่าต้องทำทีละขั้นตอน อันเป็นการยากที่จะให้โจทก์ผู้มีปัญหาเงินหายจากบัญชีเงินฝากเข้าใจความหมายและวิธีการว่า จำเลยที่ 3หมายถึง ให้โจทก์ทำคำร้องขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536เข้ามาใหม่ ทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ทำคำร้องก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ยกเว้นข้ออ้างและละเลยไม่นัดวันให้โจทก์ ภริยาและบุตรมาตรวจสอบใบถอนเงินตามที่ร้องขอในเมื่อปรากฏว่าวันที่โจทก์ทำคำร้องขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2537 โจทก์เขียนคำร้องโดยเขียนตามคำบอกของนายกิตติภูมิ แพ่งพิพัฒน์ ผู้ทำหน้าที่แทนผู้จัดการในวันที่จำเลยที่ 3 ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการแสดงแจ้งชัดว่าโจทก์เขียนคำร้องเองไม่เป็น และที่โจทก์ขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 ต่อปี หลังจากตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2537เสร็จแล้วนายกิตติภูมิก็เป็นผู้ควบคุมการตรวจสอบใบถอนเงินดังกล่าวแสดงว่า นายกิตติภูมิอยู่กับโจทก์ ภริยาและบุตรโจทก์ตลอดเวลา เชื่อว่านายกิตติภูมิต้องทราบถึงความประสงค์ดังกล่าวของโจทก์ ซึ่งนายกิตติภูมิก็สามารถรับเรื่องของโจทก์และจัดการให้โจทก์ได้ หากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการ มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานได้ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ลูกค้าตามระเบียบการของธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 13 แต่การที่จำเลยที่ 3 บอกให้โจทก์ทำทีละขั้นตอนอันแสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่อนุญาตให้โจทก์ตรวจสอบต่อไปเนื่องจากเหตุที่โจทก์จะให้ธนาคารออมสิน สาขาหนองฉางต้องรับผิดชดใช้เงินที่หายไปจากบัญชีเงินฝากตามที่โจทก์ตรวจพบดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้โจทก์ต้องว่าจ้างนายสมใจ จันทวัฒน์ ทนายความมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 ไปยังจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสินขอให้สั่งการให้จำเลยที่ 3 อนุญาตให้โจทก์ตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 หากพบความเสียหายจริงก็ขอให้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ภริยาและบุตรตามความประสงค์ของโจทก์ด้วยจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าสำนักงานกฎหมาย ธนาคารออมสินมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 มายังนายสมใจตอบปฏิเสธว่าไม่สามารถดำเนินการตามประสงค์ของนายสมใจ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงว่านายสมใจได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ภริยาและบุตรให้เป็นผู้ทวงถามจากธนาคารออมสิน ซึ่งหนังสือดังกล่าวของจำเลยที่ 2 มุ่งปฏิเสธไม่ดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอไว้ในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 เพราะเหตุผลที่ปฏิเสธนั้นไม่ตรงตามคำร้องขอของโจทก์แต่ประการใด กล่าวคือโจทก์เพียงขอให้จำเลยที่ 1สั่งการให้จำเลยที่ 3 อนุญาตให้โจทก์ตรวจสอบใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ภริยาและบุตรในปี 2536 ข้อนี้ในหนังสือของจำเลยที่ 2 ก็มิได้ให้เหตุผลของการปฏิเสธว่าเหตุใดจึงไม่สั่งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการให้โจทก์ได้ตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536ตามที่โจทก์ร้องขอ นอกจากนั้นในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 ระบุว่าโจทก์ตรวจพบว่าในปี 2537 มีผู้ปลอมลายมือชื่อเจ้าของบัญชีถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ภริยาและบุตรเป็นเงิน 35,700 บาทขอให้จำเลยที่ 1 สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบความเสียหายดังกล่าวหากพบความเสียหายจริงก็ขอให้สั่งให้ผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ภริยาและบุตรเท่านั้นซึ่งไม่มีข้อความใดในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 ระบุให้นายสมใจทวงถามค่าเสียหายจากธนาคารออมสินแทนโจทก์ ภริยาและบุตรตามที่จำเลยที่ 2ยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ตามที่โจทก์ขอแต่อย่างใดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า หลังจากโจทก์ ภริยาและบุตรมาตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2537 แล้ว จำเลยที่ 3 บอกโจทก์ว่าหากต้องการตรวจสอบเอกสารใดอีก ก็ให้มาติดต่อขอตรวจสอบได้แต่โจทก์ก็มิได้มาติดต่อกับธนาคารออมสิน สาขาหนองฉางอีกเลยอันเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้ขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เชื่อตามคำกล่าวอ้างของจำเลยที่ 3ดังกล่าว จึงมีหนังสือปฏิเสธไม่ดำเนินการให้โจทก์ได้ตรวจสอบตามที่โจทก์ขอ ซึ่งถ้าเป็นความจริงตามที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างก็ไม่เป็นการยากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเรียกโจทก์มาตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 ได้ แม้เป็นการเรียกหลังจากได้รับหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 แล้ว เหตุใดจึงต่างอ้างแต่เรื่องที่ให้ธนาคารออมสินชดใช้เงินที่หายไปจากบัญชีของโจทก์ ภริยาและบุตรขึ้นเป็นข้อปฏิเสธไม่ดำเนินการให้โจทก์ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 แต่อย่างใดเมื่อฟังประกอบกับความยุ่งยากที่โจทก์กว่าจะได้ตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2537 ซึ่งโจทก์ต้องเสียเวลากว่า 1 เดือน และเป็นการยื่นคำร้องต่อนายกิตติภูมิเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537อันเป็นวันที่จำเลยที่ 3 ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากไปอบรมหากจำเลยที่ 3 อยู่ด้วยในวันนั้นก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะมีโอกาสทำคำร้องขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2537 ได้ เพราะโจทก์สามารถทำคำร้องยื่นได้ก็เพราะนายกิตติภูมิช่วยบอกให้โจทก์เขียนตามคดีจึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537หลังจากโจทก์ ภริยาและบุตรตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2537 แล้วโจทก์ขอตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 ต่อปี แต่ได้รับปฏิเสธจากจำเลยที่ 3 จริง มิฉะนั้นโจทก์คงไม่ต้องไปเสียเงินจ้างนายสมใจทนายความให้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 ไปยังจำเลยที่ 1 ขอให้สั่งการในเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นพนักงานของธนาคารออมสินปฏิเสธไม่ยอมให้โจทก์ตรวจสอบใบถอนเงินของปี 2536 ตามที่โจทก์ขอตามสิทธิและความจำเป็นจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 123 ว่าด้วยวินัยของพนักงานธนาคารออมสินข้อ 13 ตามเอกสารหมาย ล.2 โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ ภริยาและบุตรเสียหายเพราะไม่อาจทราบได้ว่าเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ภริยาและบุตรถูกคนร้ายปลอมลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีของปี 2536หรือไม่เพียงใด และไม่อาจเอาผิดกับผู้รับผิดชอบของธนาคารออมสินสาขาหนองฉางได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share