คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้รับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกอันเกิดจากการ นำยึด และขายทรัพย์สินโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 284 วรรคสอง ซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดสิบปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้ใช้ราคาซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อปรากฏภายหลังว่าที่ดินที่จำเลยคดีนี้ในฐานะเจ้าหนี้คำพิพากษาให้นำยึดและโจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,085(พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน2527 และปัจจุบันกลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานก่อสร้างขึ้น แต่เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งทางราชการออกให้ไว้แก่ส. ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่มีการขายทอดตลาดดังกล่าวตั้งแต่ก่อนที่จะมีกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ กรณีย่อมมีผลทำให้ ส.ยังคงมีสิทธิครอบครองที่ดินนั้นอยู่ต่อไป ตามมาตรา 12 วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินไปจากการขายทอดตลาด แต่ไม่ได้ สิทธิครอบครองในที่ดินที่ซื้อมา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้ จำเลยผู้นำยึดคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนั้นได้ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้บริเวณพื้นที่ตาม น.ส.3 ก.ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นเขตป่าไม้ถาวร กรณียังต้องฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามป.ที่ดิน กล่าวคือ น.ส.3 ก.รายนี้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 วรรคสุดท้าย แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 อันเป็นประเด็นที่รวมอยู่ในประเด็นที่ว่า โจทก์มี อำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามฟ้อง หรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอันทำให้ผลคดี เปลี่ยนแปลง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานทำให้มีข้อเท็จจริง ไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยคดี จึงจำต้องทำการสืบพยานโจทก์ และจำเลยต่อไปให้สิ้นกระแสความ กรณีเป็นเรื่องที่มิได้ ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ทั้งสองตลอดจนคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาเฉพาะประเด็นดังกล่าวต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าสิบเอกจำรัส เกียรติวงศ์ ผู้ตายได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)รวม 4 แปลง จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในราคา 760,000 บาท ผู้ตายชำระราคาต่อศาลครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2532 ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม2532 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้ขอรับชำระเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปแล้ว หลังจากนั้นผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลจึงไปขอจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของโจทก์แต่ปรากฏว่าที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและกรมชลประทานได้ใช้ที่ดินทั้งหมดสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยไปแล้ว ไม่อาจรับโอนและใช้ที่ดินได้ตามความประสงค์ จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 809/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินดังกล่าวมาขายทอดตลาดจึงต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นเงิน 760,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ คิดเป็นดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 370,500 บาทขอให้บังคับจำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 1,130,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 760,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของนายสิทธิชัยออกขายทอดตลาดโดยชอบตามคำพิพากษา ทั้งประกาศขายทอดตลาดระบุไว้ว่าผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการรอนสิทธิต่าง ๆ เอง การไม่สามารถรับโอนที่ดินจากการขายทอดตลาดไม่ใช่ความผิดของจำเลย แม้ที่ดินตามฟ้องจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิครอบครองดีกว่าบุคคลอื่น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบการครอบครอง จึงอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีในการขายทอดตลาด โจทก์ต้องทราบว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว เมื่อโจทก์เสี่ยงภัยซื้อที่ดินดังกล่าวและครอบครองมานานจนสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาของจำเลยสิ้นสุดลง การยึดและขายทอดตลาดจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินจากการขายทอดตลาด คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามฟ้องหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 760,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2532จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ดินตามคำฟ้องไม่ใช่ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกอันเกิดจากการยึดและขายทรัพย์สินโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคสองซึ่งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดสิบปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193/30แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้ใช้ราคาซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับกันฟังเป็นยุติว่า ที่ดินตามที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,085 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 1พฤศจิกายน 2527 และปัจจุบันกลายเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยซึ่งกรมชลประทานก่อสร้างขึ้น แต่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2611 ถึง 2614 ซึ่งทางราชการออกให้ไว้แก่นายสิทธิชัย ภานุวาส จำเลยในคดีข้างต้นตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2520 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ กรณีย่อมมีผลทำให้บุคคลนั้นยังคงมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 วรรคสุดท้าย แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีที่ พบ.0016/19200 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2531เอกสารหมาย จ.17 แผ่นที่ 41 ซึ่งโจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาลชั้นต้นว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่2 สิงหาคม 2514 ให้บริเวณพื้นที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์รายนี้เป็นเขตป่าไม้ถาวรให้เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติทั้งแปลง ดังนั้น คดีต้องฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องในคดีนี้เป็นกรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดินกล่าวคือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์รายนี้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507อันเป็นประเด็นที่รวมอยู่ในประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามฟ้องหรือไม่เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอันทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงตรงกันข้าม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานทำให้มีข้อเท็จจริงไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา คดีจึงจำต้องทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไปให้สิ้นกระแสความตามนัยดังกล่าวข้างต้น กรณีเป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำพิพากษาศาลชั้นต้นตลอดจนคำสั่งที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปเฉพาะประเด็นดังกล่าวแล้วข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share