คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2503) (ดูเทียบกับฎีกาที่ 755/2502 ซึ่งวินิจฉัยว่า การร้องทุกข์นั้น ย่อมมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนกันได้)
้เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้ว ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 158 ข้อ (7)

ย่อยาว

ผู้ว่าคดีฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อและเครื่องหมายการค้าของบริษัทเมืองทองฯ ของบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด ของบริษัทคาร์ลไซส์แห่งประเทศเยอรมันนีและของห้างหุ้นส่วนคาร์ลิ๊ปเปอร์มาใช้ให้ปรากฏที่สินค้าของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒, ๒๗๓, ๒๗๕, ๗๒ พระยาปรีดาฯ ยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นตัวแทนของห้างบีกริม ฯ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท คาร์ลไซส์ประเทศเยอรมันนีรายหนึ่ง เป็นตัวแทนห้างคาร์ลิ๊ปเปอร์ ประเทศเยอรมันนีรอยหนึ่ง และเป็นตัวแทนบริษัทเมืองนอกฯ อีกรายหนึ่ง เป็นผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีผู้ว่าคดีและจำเลยไม่คัดค้านคำร้องนี้
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องนี้ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ (๓) ผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัทเมืองทองฯ ห้างบีกริม ฯ และห้างคาร์ลิ๊ปเปอร์ฯ เท่านั้นที่จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ หาใช่ว่าบริษัททั้งสามจะมีอำนาจตั้งพระยาปรีดาฯ เป็นตัวแทนของตนในการดำเนินคดี ่อาญาได้ไม่ เพราะถ้าเช่นนั้น ก็เท่ากับผู้เสียหาย ตั้งบุคคลอื่นให้เป็นผู้เสียหายดำเนินคดีแทนนั่นเอง จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ ข้อ ๔ บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย” หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา ๔, ๕ และ ๖ ก็ดี ความในมาตรา นี้มิได้หมายความว่า เฉพาะบุคคลในมาตรา ๔, ๕ และ ๖ เท่านั้น ที่จะจัดการแทนผู้เสียหาย ตาม มาตรา ๓ ได้ดังฎีกา ที่ ๗๕๕/๒๕๐๒ ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า ความในมาตรา ๓, ๔ และ ๕ หาใช่หมายความว่าห้ามขาดมิให้มีการมอบอำนาจแก่กัน เป็นแต่บัญญัติให้บุคคลดั่งกล่าวในมาตรา ๕ มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการในมาตรา ๓ กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่า กรณีใดมีกฎหมายห้าม หรือเป็นกรณีตามสภาพต้องทำเองหรือไม่ก็เมื่อความในมาตรา ๒ ข้อ ๔ มิได้จำกัดว่า ผู้ที่จะจัดการแทนผู้เสียหายมิได้เฉพาะ ผู้ที่ระบุไว้ในมาตรา ๕ เท่านั้นแล้ว ก็ไม่มีกฎหมายใดที่บังคับว่า การฟ้องคดีอาญา ผู้เสียหายจักต้องทำด้วยตนเอง ทั้งตามสภาพของการฟ้องคดีอาญาก็ไม่เป็นเรื่องที่จักต้องกระทำด้วยตนเองเฉพาะตัว ดังจะเห็นได้จากที่มาตรา ๓
นั้นเอง บัญญัติให้บุคคลหนึ่งฟ้องคดีอาญาในความผิดซึ่งมีผู้กระทำต่อบุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ได้ ไม่ถือเป็นการที่ผู้เสียหายเท่านั้น จะทำได้เองเฉพาะตัว เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาได้ ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา ๑๕๘ ข้อ ๗ แต่อย่างใด ในคดีนี้ หากผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้พระยาปรีดาฯ โดยชอบตามที่พระยาปรีดา ฯ ได้ยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ พระยาปรีดา ฯ ก็ย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาตามอำนาจที่รับมอบมาได้โดยพระยาปรีดาฯ ไม่จำต้องเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ ข้อ ๓ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เสียหายจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ก็อาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ ส่วนผู้เสียหายในคดีนี้จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหรือไม่ ผู้มอบอำนาจมีอำนาจจะมอบได้หรือไม่เป็นข้อที่ศาลจะต้องพิจารณาต่อไปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้พิจารณาว่ามีการมอบอำนาจโดยชอบหรือไม่
ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม และมีคำสั่งใหม่ตามนัยแห่งข้อกฎหมายข้างต้น

Share