คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยยอมเสีย ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 14 ต่อปี หากภายหลังจากวันทำสัญญานี้ โจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่จำเลยยังคงค้างชำระอยู่ตามสัญญานี้ตามที่โจทก์กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าโดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบเท่านั้น จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามที่แจ้งไปทุกประการ โดยไม่จำต้องมีการผิดนัดในการชำระหนี้หรือไม่ ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร ซึ่งไม่ เข้ากรณีเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งให้แก่ จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยกับจำเลย ให้สูงกว่าตามที่ได้ตกลงไว้เดิมในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามสัญญากู้เงิน โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และ หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยยอมให้โจทก์คิด ดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ ซึ่งในวันทำสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ก็ตามแต่ตามสัญญาข้อนี้โจทก์จะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยผิดนัดในการชำระหนี้ให้แก่โจทก์อันเป็นการทำให้โจทก์เสียหายดังนั้น ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเดิมอัตราร้อยละ 14 ต่อปี มาเป็นอัตราร้อยละ 18ต่อปี นับแต่วันที่มีการผิดนัดจึงเกิดจากการที่จำเลยไม่ ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามควรนั้นเอง ซึ่งถือ ได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า หากโจทก์เรียกมา สูงเกินไป ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็น จำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนถึงวันฟ้องของต้นเงิน ดังกล่าวจนกว่าจำเลยชำระเสร็จ และจากทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 336,819.84 บาท ในจำนวนยอดเงินดังกล่าวมีดอกเบี้ยที่โจทก์คิดคำนวณ อัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของยอดเงิน 2,400,000 บาท ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้รวมอยู่ด้วย เมื่อปรากฏว่าทางพิจารณาได้ความว่า ยอดเงินไม่ถูกต้องตรงตามที่โจทก์ขอมา ศาลชั้นต้น จึงมีอำนาจปรับปรุงให้ถูกต้องเสียใหม่ไม่เป็นการพิพากษา เกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน3,228,070.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 2,393,380.82 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 7,218 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระเงินดังกล่าวให้ยึดทรัพย์จำนองนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน2,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่2 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินจำนวน 336,819.84 บาท หักออกจากยอดหนี้ดังกล่าวก่อน และให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,218 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 1,263.68 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 242321 และ 242322 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้เงินโจทก์จำนวน 2,400,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยทั้งสองได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 14 ต่อปีกำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 37,300 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนโดยเริ่มผ่อนชำระเดือนแรกตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 และจำชำระหนี้ตามสัญญาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 242321 และ 242322 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้โจทก์จำนวน 2,400,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันภายหลังจากทำสัญญากู้เงินดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 เป็นเงิน 16,524.16 บาทโดยเป็นการชำระดอกเบี้ยถึงวันที่ 8 กันยายน 2538 เนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้โจทก์ตลอดมา โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ บอกเลิกสัญญาและไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือนั้นแล้ว แต่เพิกเฉย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่าศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดดอกเบี้ยโจทก์จากอัตราร้อยละ 18 ต่อปีลงเป็นร้อยละ 14 และร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผิดนัดหรือไม่ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาเกินคำขอโจทก์ท้ายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379ได้ระบุเรื่องเบี้ยปรับไว้ว่าเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าที่ลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกค่าปรับได้ คดีนี้โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ว่าจำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์จำนวนเงิน 2,400,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 14 ต่อปี หากภายหลังจากวันทำสัญญานี้ โจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 1 จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระอยู่ตามสัญญานี้ตามที่โจทก์กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าโดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบเท่านั้น จำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามที่แจ้งไปทุกประการโดยไม่โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใดทั้งสิ้น โดยไม่จำต้องมีการผิดนัดในการชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรซึ่งไม่เข้ากรณีเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ก็จริง แต่โจทก์ก็ได้ตกลงกับจำเลยทั้งสองว่า หากโจทก์จะเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจากที่ได้ตกลงกันไว้เดิมไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกับจำเลยทั้งสองได้โจทก์จะต้องแจ้งให้แก่จำเลยทั้งสองทราบก่อน ซึ่งจากทางนำสืบโจทก์เหตุที่ว่านี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งให้แก่จำเลยทั้งสองทราบแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยกับจำเลยทั้งสองเองให้สูงกว่าตามที่ได้ตกลงไว้เดิมในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ซึ่งโจทก์ได้ตกลงให้ไว้แก่จำเลยทั้งสองตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 จนถึงวันผิดนัดได้
ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.4ข้อ 2.1 ตามที่ตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ไม่น้อยกว่าเดือนละ37,300 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน โดยเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป และหากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ (ซึ่งในวันทำสัญญานี้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี) ก็จริงแต่ตามสัญญาข้อนี้โจทก์จะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในการชำระหนี้ให้แก่โจทก์อันเป็นการทำให้โจทก์เสียหาย จึงเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยทั้งสองเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเดิมอัตราร้อยละ 14 ต่อปี มาเป็นอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่มีการผิดนัดตามที่ได้ระบุไว้ในข้อนี้นั้นเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามควรนั้นเอง
จึงถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้าระหว่างโจทก์เจ้าหนี้กับจำเลยทั้งสองลูกหนี้นั้นเอง เบี้ยปรับที่ว่านี้เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์เรียกมาสูงเกินไป ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นจำนวนพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งได้
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้น 2,393,380.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นวันผิดนัดไปจนถึงวันฟ้องของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจำเลยทั้งสองชำระเสร็จศาลชั้นต้นไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 336,819.84 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระให้แก่โจทก์แล้วโดยผิดเงื่อนไขมาโดยตลอดและมิได้โต้แย้งในการคำนวณดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ที่โจทก์ได้คิดคำนวณมาทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นนำมาหักยอดเงิน 2,400,000 บาท ได้นั้น เห็นว่า จากทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จำเลยทั้งสองได้กู้เงินโจทก์จำนวน 2,400,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี โดยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 37,300 บาท เริ่มผ่อนชำระเดือนแรกภายในวันที่ 5 มกราคม 2538 และภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าชำระเสร็จภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากจำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์แล้ว ได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 336,819.84 บาทโดยผิดเงื่อนไขมาโดยตลอดดังที่โจทก์อ้างมาตามฎีกานั้นย่อมเห็นได้ว่า ในจำนวนยอดเงินดังกล่าวตามที่โจทก์คิดคำนวณมามีจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์คิดคำนวณอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของยอดเงิน2,400,000 บาท ตามบัตรบัญชีเอกสารหมาย จ.10 รวมอยู่ด้วยซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วแต่ต้นจึงไม่ถูกต้องตรงตามที่โจทก์ขอมา ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจปรับปรุงให้ถูกต้องเสียใหม่ได้จึงไม่เกินคำขอ
พิพากษายืน

Share