แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียง 3 เดือน หรือน้อยกว่าดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 ต้องถือเอาโทษจำคุกที่ศาลลง ในแต่ละกระทงความผิด จะรวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดในคดีนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหาได้ไม่ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในแต่ละกระทงความผิด ให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจยกโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 55 ได้ จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องแล้ว คำแก้ฎีกาของจำเลยเมื่อเป็นการขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้จำเลยยกขึ้นในชั้นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 มาตรา 33, 45, 71, 80, 89 และ 90 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 5/2512 เรื่อง เพิ่มเติมการค้าบางประเภทเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2512 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 ข้อ 4(81) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83และ 91
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตา 33 วรรคหนึ่ง 45, 71, 80, 89และ 90 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 5/2512 เรื่อง เพิ่มเติมการค้าบางประเภทเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 ข้อ 4(81) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 เรียงกระทงลงโทษฐานดำเนินกิจการค้าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือนปรับคนละ 8,000 บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร จำคุกคนละ 4 เดือนปรับคนละ 8,000 บาท และปรับคนละ 200 บาท ต่อวัน เป็นเวลา148 วัน เป็นเงิน 29,600 บาท รวมจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 45,600 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 22,800 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกโทษจำคุก และให้ลงโทษปรับสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาในข้อกฎหมายของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องโทษรวม 2 กระทงจำคุกเกิน 3 เดือน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษายกโทษจำคุกจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองกระทำความผิด 2 กระทงต่างกรรมกัน คือฐานดำเนินกิจการค้าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาตกระทงหนึ่ง และฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอีกกระทงหนึ่ง ซึ่งแต่ละกระทงเป็นความผิดที่บริบูรณ์ครบถ้วนในตัวเองและเป็นการกระทำความผิดโดยจำเลยมีเจตนาต่างกัน โจทก์สามารถแยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองมาเป็นคดีแต่ละกระทงได้ ซึ่งหากโจทก์แยกฟ้องมาเป็นรายคดีแต่ละกระทง เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในข้อหาความผิดกระทงที่ฟ้องมาในคดีหนึ่ง ๆ ไม่เกิน3 เดือน ดังเช่นที่ได้พิพากษาลงโทษมาสำหรับความผิดกระทงหนึ่ง ๆในคดีนี้ ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงหรือจะยกโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเสียก็ได้โทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดเวลาเพียง 3 เดือน หรือน้อยกว่าดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 นั้น ต้องถือเอาโทษจำคุกที่ศาลลงในแต่ละกระทงความผิด จะรวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดในคดีนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหาได้ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในแต่ละกระทงความผิดให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือนศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจยกโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 ได้
ส่วนที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาขอให้ลงโทษปรับกระทงละไม่เกิน1,000 บาท โดยอ้างว่าแม้จำเลยที่ 2 จะมีจักรเย็บผ้าเกิน 5 เครื่องแต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้จักรดังกล่าวประกอบการค้าทั้ง 5 เครื่องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นการขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน