คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงใช้วิธีระงับข้อพิพาทกับอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวมีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 22 ได้บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุด และผูกพันคู่กรณีเมื่อผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น กรณีของผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 26 เท่านั้น เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตาม ข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้าน เห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย ไม่รับฟังความเห็นของร. ซึ่งเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญกลางที่อนุญาโตตุลาการแต่งตั้งขึ้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้นการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ ส่วนการที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือความรับผิดของสัญญาและกำหนดความรับผิดในดอกเบี้ยผิดกฎหมายอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น ตามสัญญาก่อสร้างคลองฝั่งซ้ายระบุให้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดตามข้อเรียกร้องที่ 13 ค่างานเพิ่มเติมและข้อ 18 ค่าเร่งรัดงาน จึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาแล้ว หาใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาไม่ส่วนข้อที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535 แต่ผู้คัดค้านอ้างว่ายังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัดและวันที่ดังกล่าวมิใช่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็เป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริงว่าจะฟังว่าจำเลยผิดนัดแล้วหรือไม่เท่านั้น จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นของบทบัญญัติมาตรา 26 ดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงไม่มี สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2532ผู้ร้องทั้งสองซึ่งทำกิจการร่วมค้าด้วยกันได้ทำสัญญารับจ้างเหมาทำโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานแม่กวงระยะที่ 3 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างคลองส่งน้ำแม่กวงฝั่งซ้ายกับผู้คัดค้าน โดยมีข้อกำหนดว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญา ให้เสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ต่อมาเมื่อปี 2534ได้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้านผู้ร้องทั้งสองได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และเมื่อวันที่15 กันยายน 2537 อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 333,987,817 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535 จนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 70,669,305.70 บาท แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงิน 404,657,122.70 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 333,987,817 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องทั้งสองรวม 3 รายการ แต่คำชี้ขาดตามข้อเรียกร้องที่ 13 และ 18 ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อความที่กำหนดไว้ในสัญญาพิพาท และไม่ถูกต้องตามหลักการในการตีความสัญญา เพราะค่าใช้จ่ายตามข้อเรียกร้องที่ 13 ซึ่งผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการวางผังงานอันเป็นงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อกำหนดในสัญญาพิพาทนั้นแท้จริงเป็นรายงานการสำรวจภูมิประเทศเพื่อการเตรียมแบบซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ร้องทั้งสองที่จะต้องทำตามสัญญาพิพาท และผู้คัดค้านก็ได้ชำระเงินค่าแบบรายละเอียดชิ้นงานก่อสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องทั้งสองไปครบถ้วนตามเงื่อนไขในสัญญาแล้ว ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากผู้คัดค้านอีก ส่วนข้อเรียกร้องที่ 18 ค่าชดเชยในการเร่งรัดงานก็ไม่มีข้อกำหนดในสัญญาให้ผู้ร้องทั้งสองเรียกร้องเอาจากผู้คัดค้านได้ ทั้งเหตุที่งานล่าช้าก็เกิดจากความผิดของผู้ร้องทั้งสองเองไม่ใช่กรณีที่อยู่ในความรับผิดของผู้คัดค้านและผู้คัดค้านมิได้ผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินตามข้อเรียกร้องดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสอง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 333,987,817 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่14 กันยายน 2532 ผู้คัดค้านได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้ผู้ร้องทั้งสองดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำแม่กวงฝั่งซ้าย ตามโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานแม่กวงระยะที่ 3โดยมีข้อตกลงด้วยว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องเสนอให้อธิบดีกรมชลประทานวินิจฉัยเสียก่อนต่อมาในปี 2534 ได้เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้านเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมานั้น และหลังจากที่ได้มีคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมชลประทานแล้ว ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดข้อพิพาทเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2537ให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามข้อเรียกร้องที่ 7 ที่ 13 และที่ 18รวมเป็นเงิน 333,987,817 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี แก่ผู้ร้องทั้งสอง แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นผู้คัดค้านอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 26และพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่ากรณีนี้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาให้ผู้ร้องทั้งสองดำเนินการก่อสร้างคลองส่งน้ำแม่กวงฝั่งซ้ายตามโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานแม่กวงระยะที่ 3 ให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้ เป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงใช้วิธีระงับข้อพิพาทกับอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวมีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 22ได้บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุด และผูกพันคู่กรณี ซึ่งตามเอกสารหมาย ค.7อันเป็นรายละเอียดที่ผู้คัดค้านปรึกษาหารือกับกระทรวงการคลังก็ปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้วว่าผู้คัดค้านทราบดีว่าการใช้ให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทมีผลทำให้คำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและยุติ และผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเมื่อผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น กรณีของผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ได้หรือไม่จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 26 เท่านั้น ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล เว้นแต่
(1) มีข้ออ้างแสดงว่า อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด มิได้กระทำการโดยสุจริตหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉล
(2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
(4) ผู้พิพากษาซึ่งไต่สวนคดีนั้นมีความเห็นแย้ง หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ
(5) เป็นคำสั่งที่เกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่กรณีในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 18”
คดีนี้ เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นสรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านเห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย ไม่รับฟังความเห็นของนายรชฎ กาญจนวนิชซึ่งเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญกลางที่อนุญาโตตุลาการตั้งขึ้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น การที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบส่วนการที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือความรับผิดของสัญญาและกำหนดความรับผิดในดอกเบี้ยผิดกฎหมายอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้นเห็นว่า ตามสัญญาก่อสร้างคลองฝั่งซ้ายเอกสารหมาย ค.14ข้อ 33 ก็ระบุให้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดตามข้อเรียกร้องที่ 13 ค่างานเพิ่มเติม และข้อ 18ค่าเร่งรัดงานจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาแล้วหาใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาไม่ส่วนข้อที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535แต่ผู้คัดค้านอ้างว่ายังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัด และวันที่ดังกล่าวมิใช่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็เป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริงว่าจะฟังว่าจำเลยผิดนัดแล้วหรือไม่เท่านั้น จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นของบทบัญญัติมาตรา 26 ดังกล่าวผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และโดยนัยเดียวกันผู้คัดค้านไม่มีสิทธิฎีกาด้วยที่ผู้คัดค้านฎีกาขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของผู้คัดค้าน

Share