แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำว่าหลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้นเมื่อเอกสารมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์รวม 116,000 บาท มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ แม้ลายมือชื่อมิได้อยู่ในช่องผู้กู้ แต่มีตัวโจทก์มาสืบประกอบอธิบายว่าเหตุที่ให้จำเลยกู้ยืมเงินเพราะเห็นว่าจำเลยเป็นคนน่าเชื่อถือได้โดยจำเลยกู้เงินไปเพื่อทำสวน จำเลยเองก็เบิกความว่าตนมีสวนอยู่ 80 ไร่ ใช้ปุ๋ยครั้งละประมาณ 2 ตัน เป็นเงินเกือบ20,000 บาท จำเลยถูกธนาคารฟ้องเรียกเงินที่กู้ยืม แสดงว่าฐานะของจำเลยไม่ดีนัก เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารที่มีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความที่ปรากฏในเอกสารนั้น หลักฐานการกู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดวันชำระหนี้ แม้จะมีข้อความส่วนที่เขียนด้วยดินสอว่า “ผู้ยืมมารับใบนี้ไปเมื่อ12 มีนาคม 2537” จะถือเป็นวันที่จำเลยผิดนัดไม่ได้เพียงแต่เป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เท่านั้นจะเป็นการผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 224 เมื่อโจทก์นำสืบว่าได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ซึ่งให้เวลาชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือซึ่งใบตอบรับระบุว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2537 ต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายนับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2537 ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 120,350 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 116,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินและไม่ได้รับเงินจากโจทก์ จำเลยไม่เคยทำหลักฐานการกู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 116,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่12 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 กันยายน 2537) ต้องไม่เกิน 4,350 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าโจทก์จำเลยเคยรู้จักกันมาก่อนต่อมาโจทก์นำเอกสารหมาย จ.1ซึ่งมีข้อความระบุว่าเป็นใบยืมเงินไปใช้ชั่วคราวมีชื่อจำเลยภริยาและบุตรจำเลยเป็นผู้ยืมระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2536ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 116,000 บาทท้ายเอกสารมีลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ตรงช่องผู้ให้ยืมเงิน และมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ใต้ลายมือชื่อโจทก์ โดยไม่ได้ลงตรงกับช่องผู้ยืมเงิน ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่มิได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวนดังกล่าวไปจริงหรือไม่ซึ่งมีข้อที่ต้องพิจารณาว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โจทก์นำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.1 ว่าโจทก์รู้จักจำเลยซึ่งมีอาชีพทำสวนก่อนที่จะให้จำเลยกู้ยืมเงินประมาณ 1 ปี ขณะที่โจทก์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดมาบใหญ่ ตำบลสะตอ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราดระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2536 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2536 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง บางครั้งจำเลยมารับเงินที่กู้ยืมเองบางครั้งก็ให้ภริยาหรือบุตรสาวของจำเลยมารับเงินไปจากโจทก์แต่ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้เพราะเชื่อใจกัน ต่อมาโจทก์พิมพ์เอกสารหมาย จ.1 ขึ้น โดยรวมหนี้สินทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 116,000 บาท จัดทำคู่ฉบับไว้ 1 ฉบับด้วย พิมพ์เสร็จเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2537 วันรุ่งขึ้นจึงให้คนไปตามจำเลยมาพบและให้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ยืมแต่จำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อในช่องผู้ยืมเงินแต่กลับลงไว้ใต้ลายมือชื่อโจทก์ตรงที่ทำเครื่องหมายดอกจันไว้ และรับคู่ฉบับเอกสารจากโจทก์ไป เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยไม่ยอมชำระ ส่วนจำเลยอ้างตนเองเบิกความว่าจำเลยรู้จักโจทก์จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ แต่ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1ตามที่โจทก์ขอให้ลงลายมือชื่ออ้างว่าเป็นหลักฐานการรับสำเนาในปัญหาที่ว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่นั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3เคยรับราชการยศสิบตำรวจโทอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาสมิงจังหวัดตราด มีบ้านพักอยู่ห่างจากวัดที่โจทก์จำพรรษาไม่ถึง10 กิโลเมตร และเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยเคยไปเที่ยวกับโจทก์ แสดงว่าโจทก์กับจำเลยมีความคุ้นเคยกันพอสมควร เมื่อโจทก์นำเอกสารหมาย จ.1 มาให้จำเลยลงลายมือชื่อจำเลยดูแล้วเห็นว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อ แสดงว่าจำเลยได้อ่านข้อความในเอกสารหมาย จ.1 โดยตลอดแล้วและทราบดีว่าเป็นเอกสารที่แสดงว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งดังปรากฏข้อความในเอกสาร หากจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์จริงก็น่าจะได้ปฏิเสธและไม่จำเป็นที่จะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารนั้น เพราะโจทก์เป็นพระภิกษุ ไม่ปรากฏว่ามีอำนาจใด ๆ ที่จะบังคับให้จำเลยซึ่งเคยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ น่าเชื่อว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริง และคำว่าหลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมอยู่ในหนังสือนั้นเมื่อเอกสารมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์รวม116,000 บาท มีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ และมีตัวโจทก์มาสืบประกอบอธิบายว่าเหตุที่ให้จำเลยกู้ยืมเงินเพราะเห็นว่าจำเลยเป็นคนเชื่อถือได้ และจำเลยกู้ยืมเงินไปเพื่อทำสวน จำเลยก็เบิกความว่าจำเลยมีสวนอยู่ 80 ไร่ ใช้ปุ๋ยครั้งละประมาณ 2 ตัน เป็นเงินเกือบ20,000 บาท และเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยถูกธนาคารกสิกรไทยฟ้องเรียกเงินที่กู้ยืม แสดงว่าฐานะของจำเลยไม่ดีนัก แม้โจทก์จะเบิกความตอบคำถามค้านว่า เอกสารหมาย จ.1มีคู่ฉบับ คู่ฉบับอยู่ที่จำเลย พยานบอกให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้ยืมเงิน แต่จำเลยไปลงลายมือชื่อตรงที่มีเครื่องหมายดอกจันด้วยหมึกสีน้ำเงินเมื่อลงลายมือชื่อแล้วพยานจึงให้คู่ฉบับไปก็ไม่ใช่ข้อพิรุธถึงกับฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์เพราะแม้จะไม่มีข้อความว่าผู้กู้ แต่เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารที่มีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชอบตามเนื้อความที่ปรากฏในเอกสาร พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปคือจำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยเพียงใดที่โจทก์ขอมาในฟ้องว่าให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลงลายมือชื่อรับสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามที่โจทก์ขอ ทั้งกล่าวในฎีกาว่าขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยขอให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า หลักฐานการกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้กำหนดวันชำระหนี้แม้จะมีข้อความส่วนที่เขียนด้วยดินสอว่า “ผู้ยืมมารับใบนี้ไปเมื่อ 12 มีนาคม 2537″จะถือเป็นวันที่จำเลยผิดนัดไม่ได้ เพียงแต่เป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เท่านั้น จะเป็นการผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 224 โจทก์นำสืบว่าได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และจำเลยได้รับหนังสือแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4เมื่อหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.3 ให้เวลาชำระหนี้ภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือซึ่งใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2537 ต้องชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 116,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(วันที่ 19 กันยายน 2537) ต้องไม่เกิน 4,350 บาท