คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเป็นแต่เพียงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนบริษัทผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริงโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าเกี่ยวข้องครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ดังนั้น แม้จำเลยกับ จ. จะไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และนำไปขายโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ป. กับ ร.โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทผู้เสียหาย และเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทไป การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ไปแล้วกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 1 คน ร่วมกันกระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ครอบครองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 63582 ได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาที่ดินดังกล่าวของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกไถ่ถอนจำนองจากบุคคลผู้มีชื่อและโอนขายให้กับบุคคลอื่นไป แล้วร่วมกันนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปใช้เป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวกทำให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 119,600,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352, 353 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 119,600,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอัยการสูงสุดรักษาราชการแทนอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยรองอัยการสูงสุดรักษาราชการแทนอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2533 ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยกับพวกอีก 3 คน ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.8 และจดทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1เพราะขณะนั้นการจัดตั้งบริษัทผู้เสียหายยังไม่เรียบร้อย โดยมีข้อตกลงกันว่า จำเลยกับพวกจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นคืนแก่บริษัทผู้เสียหายในภายหลังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.14ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2533 บริษัทผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยกับพวกจำนองที่ดินดังกล่าวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แปซิฟิคไฟแนนซ์ จำกัด ในราคา 36,000,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.15 โดยบริษัทผู้เสียหายเป็นผู้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แปซิฟิคไฟแนนซ์ จำกัด ตลอดมาตามเอกสารหมาย จ.17 และเมื่อวันที่2 สิงหาคม 2537 จำเลยกับพวกและนายเจิง จิ้น ฟู ร่วมกันไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แปซิฟิคไฟแนนซ์จำกัด และนำไปโอนขายให้แก่นายปราโมทย์ เตียสุวรรณและนางประพีร์ สรไกรกิติกูล ในราคา 110,000,000 บาทปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.20 โดยมิได้รับความยินยอมจากบริษัทผู้เสียหาย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากนายอู๋ หลุน คุน กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้เสียหายว่าจำเลยทราบดีว่า จำเลยกับพวกถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทนบริษัทผู้เสียหาย โดยทำบันทึกยืนยันไว้ตามเอกสารหมาย จ.11ถึง จ.14 นายอู๋ หลุน คุน เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่จะนำไปจำนองกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แปซิฟิคไฟแนนซ์จำกัด การจำนองที่ดิน นายอู๋ หลุน คุน ให้นายเจิง จิ้น ฟูไปบอกให้จำเลยกับพวกดำเนินการ นายอู๋ หลุน คุน ให้ค่าตอบแทนจำเลยกับพวกในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนคนละประมาณ 150,000 บาท ช่วงเดือนธันวาคม 2535 จำเลยทำบันทึกกับบริษัทอามูล่า เอ็นเตอร์ไพรส์(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีนายอู๋ หลุน คุนเป็นกรรมการว่าหากจำเลยได้รับความเสียหายใด ๆ เนื่องจากการถือครองโฉนดที่ดินพิพาทและการทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทบริษัทอามูล่า เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะรับผิดชอบชดใช้ให้ โดยจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนในที่ดินแปลงอื่นอีก 6 แปลงตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.18 เห็นว่านายอู๋ หลุน คุนให้จำเลยกับพวกถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนานกว่า 4 ปีโดยไม่มีการใช้ประโยชน์สร้างโรงงานตามที่อ้าง จนกระทั่งมีการโอนขายต่อไป และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนนายอู๋ หลุน คุน กับพวกอีกหลายแปลง โดยนายอู๋ หลุน คุนกับพวกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและความรับผิดที่อาจมีขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนกันในการประกอบการค้าที่ดิน การจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทประการใดขึ้นอยู่กับความประสงค์ของนายอู๋ หลุน คุนบริษัทผู้เสียหายมิได้มอบหมายให้จำเลยกับพวกจัดการที่ดินพิพาทแต่อย่างใด กรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการที่ดินพิพาท อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 หรือไม่ เห็นว่า ที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น นอกจากจะมีการเบียดบังเอาทรัพย์ไปโดยทุจริตแล้ว จะต้องได้ความด้วยว่าผู้ที่เบียดบังนั้นได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยเป็นแต่เพียงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนบริษัทผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริงเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าเกี่ยวข้องครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นตามความหมายแห่งมาตรา 352ดังนั้น แม้จำเลยกับนายเจิง จิ้น ฟู จะไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท แล้วนำไปขายโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายปราโมทย์เตียสุวรรณ กับนางประพีร์ สรไกรกิติกูล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทผู้เสียหาย และเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทไปการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ 353 ดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share