แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ลงโทษโรงงานที่ตั้งหรือขยายกำลังผลิตเพิ่มจากที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้จ่ายเงินทดแทนพิเศษแก่รัฐตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น หากโรงงานใดไม่ประสงค์จะจ่ายเงินทดแทนพิเศษดังกล่าวก็ต้องปรับปรุงแก้ไขโรงงานของตนให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตไว้ มติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมาตรการที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนและเศรษฐกิจของชาติ เป็นนโยบายที่กำหนดไว้โดยชอบ มิได้เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงมีผลใช้บังคับ ไม่ตกเป็นโมฆะเมื่อโจทก์มีเครื่องจักรในโรงงานซึ่งมีกำลังการผลิตเกินกว่าอัตราที่ได้รับอนุญาต และสมัครใจยินยอมทำสัญญาจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแทนการปรับปรุงแก้ไขกำลังการผลิตให้เป็นไปในทางที่ได้รับอนุญาตแต่เดิมโจทก์จึงต้องชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามสัญญาที่ทำไว้ตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนสัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2529 หนังสือกองคลังสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ อก.0202/3154 ลงวันที่2 กันยายน 2531 ให้ไม่มีผลใช้บังคับและเป็นโมฆะให้จำเลยทั้งสองคืนเงินต้นงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยรวม 287,500 บาท กับดอกเบี้ยของเงินต้น 250,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาตามฟ้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายจึงมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ทั้งการที่โจทก์ขยายกำลังการผลิตย่อมทำให้โจทก์ได้รับผลประโยชน์มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามมติของคณะรัฐมนตรี โจทก์จึงยอมทำตามสัญญาด้วยความสมัครใจและเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ซึ่งหลังจากที่โจทก์ได้ชำระเงินบางส่วนแล้ว โจทก์ก็ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานในส่วนที่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมและได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เมื่อโจทก์ได้รับผลประโยชน์ไปแล้วจึงบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาและกลับมายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้โดยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อประมาณปลายปี 2517 โจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทราย กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาต ต่อมาในเดือนเมษายน 2518 จังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานตั้งโรงงานไม่ได้รับอนุญาตศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาลงโทษโจทก์ โจทก์ขอผ่อนผันการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายอีก จนกระทั่งเดือนเมษายน 2519 คณะกรรมการพิจารณานโยบายการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายซึ่งกระทำการแทนคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติในหลักการให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายได้มีกำลังหีบอ้อยวันละ 12,492 ตัน และได้อนุมัติให้โจทก์ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายได้ 1 โรง เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยโจทก์ได้ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐจำนวน 9,369,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.16 และโจทก์จะต้องตั้งโรงงานและเปิดดำเนินการภายในกำหนด 3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งโรงงานให้เสร็จได้โจทก์ได้ขอขยายเวลาการจัดตั้งโรงงานต่อมาอีก ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2525 กำหนดให้แล้วเสร็จในเวลา 715 วันโดยติดตั้งลูกหีบจำนวน 1 แถว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 42 นิ้วยาว 84 นิ้ว จำนวน 6 ชุด ชุดละ 5 ลูกกลิ้ง รวม 30 ลูกกลิ้งคำนวณกำลังการผลิตได้ 12,013 ตันอ้อย/วัน เมื่อโจทก์สร้างโรงงานเสร็จแล้วได้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานของโจทก์ ปรากฏว่าขนาดลูกหีบที่โจทก์ติดตั้งจริงไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาตติดตั้งทำให้กำลังการผลิตมากกว่าที่ได้รับอนุญาต โดยลูกหีบที่ติดตั้งจริงเสร็จแล้วจำนวน 5 ชุด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 นิ้วยาว98.43 นิ้ว (2,500 มม.) ชุดละ 3 ลูกกลิ้ง จำนวน 15 ลูกกลิ้งคำนวณกำลังผลิตได้ 14,107 ต้นอ้อย/วัน ส่วนลูกหีบชุดที่ 6จำนวน 3 ลูกกลิ้ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 นิ้ว ยาว 98.43 นิ้ว(2,500 มม.) ยังไม่ได้ติดตั้ง โจทก์มีโครงการจะติดตั้งให้ครบจำนวน 6 ชุด ซึ่งหากคำนวณกำลังการผลิตทั้ง 6 ชุด แล้วจะเป็น15,453 ต้นอ้อย/วัน กรณีถือได้ว่าโจทก์เพิ่มกำลังการผลิตจำเลยสั่งให้โจทก์แก้ไขขนาดและจำนวนลูกหีบให้ตรงตามใบอนุญาตหรือจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ โจทก์ไม่แก้ไขจำนวนลูกหีบและไม่ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ จนถึงเดือนมีนาคม 2529จำเลยที่ 1 แจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการตามกฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ประกอบกิจการโรงงาน และจังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามเอกสารหมายล.58 ต่อมาเดือนตุลาคม 2529 โจทก์ได้แจ้งแก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า โจทก์มีความพร้อมที่จะประกอบกิจการโรงงานแล้ว ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จำเลยที่ 1 เห็นควรผ่อนผันให้โรงงานโจทก์ติดตั้งลูกหีบได้ตามที่ได้ติดตั้งจริงแต่ต้องชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐในส่วนที่เกินจากที่ได้รับอนุญาตจำนวน 8,883,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้ทำสัญญาผ่อนชำระเงินดังกล่าวให้แก่รัฐ โดยโจทก์ได้ชำระเงินบางส่วนแล้วจำนวน 250,000 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ เอกสารหมาย จ.18 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.67 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า สัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐดังกล่าวมีผลบังคับได้หรือไม่ โจทก์อ้างว่าสัญญาดังกล่าวและมติคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้โจทก์ชำระเงินนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงเป็นโมฆะ เห็นว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานซึ่งให้ติดตั้งลูกหีบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 42 นิ้ว ยาว 84 นิ้ว จำนวน 6 ชุด ชุดละ 5 ลูกกลิ้งรวม 30 ลูกกลิ้ง และมีกำลังการผลิตได้ไม่เกินนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้คือ 12,492 ตันอ้อยต่อวัน แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ติดตั้งลูกหีบในโรงงานโจทก์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 นิ้ว ยาว98.43 นิ้ว จำนวน 5 ชุด ชุดละ 3 ลูกกลิ้ง รวม 15 ลูกกลิ้งคำนวณกำลังการผลิตได้ 14,107 ตันอ้อยต่อวัน ส่วนลูกหีบชุดที่ 6 จำนวน 3 ลูกกลิ้ง ขนาดเดียวกับที่ติดตั้งแล้วนั้นยังไม่ได้ติดตั้ง โจทก์มีโครงการจะติดตั้งให้ครบ 6 ชุด ซึ่งหากคำนวณกำลังการผลิตทั้ง 6 ชุดแล้วจะเป็น 15,453 ตันอ้อยต่อวันจำเลยถือว่าโจทก์เพิ่มกำลังการผลิต ต้องชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2523 และวันที่ 21 ธันวาคม 2525 หรือมิฉะนั้น โจทก์จะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขโรงงานของโจทก์ให้เป็นไปตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตไว้เดิมซึ่งเรื่องที่โจทก์ขอตั้งโรงงานน้ำตาลทรายนั้น โจทก์ได้เคยมีหนังสือลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงจำเลยที่ 1 ยืนยันชัดเจนว่า “อย่างไรก็ตามโจทก์พร้อมและยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของทางราชการทุกประการ” ในส่วนของกำลังการผลิตของโรงงานโจทก์นั้น โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 ถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.26 ระบุไว้ในข้อ 1. ก ว่า “เดิมบริษัทน้ำตาลวังขนาย จำกัดตั้งขึ้นมาโดยได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานก่อนที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 จะมีผลใช้บังคับ ต่อมาได้ติดตั้งเครื่องจักรมีกำลังการผลิตหรือหีบอ้อยเกินกว่าใบอนุญาต ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นในทางเศรษฐกิจรวมทั้งการจัดหาลูกหีบและปริมาณเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมชำรุดเสื่อมสภาพ แต่ทำให้เกิดผลดีต่อการลงทุนและเศรษฐกิจเป็นส่วนรวมจึงทำให้มีการติดตั้งกำลังการผลิตเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงาน” ดังนี้ เท่ากับโจทก์ยอมรับโดยตรงว่าเครื่องจักรโรงงานโจทก์มีกำลังการผลิตเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตไว้นอกจากนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษตามเอกสารหมาย ล.43 ก็ได้ระบุไว้ในหนังสือนั้นว่าโจทก์ติดตั้งลูกหีบไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกินสิทธิเดิม โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งเรื่องกำลังการผลิตดังกล่าวและไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา 14 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ในเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ชัดแจ้งตามที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายโดยเพิ่มขยายกำลังการผลิตเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตการที่คณะกรรมการทำการปรับเกี่ยวกับการลงโทษโรงงานน้ำตาล และการที่จำเลยที่ 2มีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษก็ให้ชำระให้แก่รัฐโดยนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์แก่รายได้ของแผ่นดินอันเป็นส่วนรวมมิใช่เพื่อประโยชน์แก่ส่วนตน กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยสุจริต การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.40พฤติการณ์เป็นเรื่องที่ผู้แจ้งความเชื่อว่าโจทก์กระทำผิดกฎหมายฉะนั้นการใช้สิทธิอันใดอันหนึ่งตามปกตินิยมหรือตามกฎหมายย่อมไม่เป็นการข่มขู่ นายเรวัติ ศิรินุกูล พยานโจทก์ได้เบิกความว่าการย้ายโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 กำหนดไว้ว่าต้องเสียค่าธรรมเนียมการที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์เสียค่าปรับพยานเข้าใจว่าทำได้ตามมติคณะรัฐมนตรี นายวิชาญ ชาโญพงษ์ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เบิกความยอมรับว่า หากโจทก์ดำเนินการไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองก็สามารถที่จะไม่กำหนดวันเปิดหีบอ้อยและกำหนดปริมาณน้ำตาลให้โจทก์ทำการผลิตได้ นายปรีชา เพชรใสพยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า เหตุที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่กำหนดโควตาในการผลิตน้ำตาลทรายให้แก่โรงงานของโจทก์เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 นายสามชัย ไชยทิพย์อาสน์พยานจำเลยทั้งสองอีกปากหนึ่งเบิกความว่า มติของคณะรัฐมนตรีที่ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลทรายนั้นไม่ได้ออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 33 แต่ออกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหากไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีจะมีมาตรการให้ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ ซึ่งใช้แก่โรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนทุกแห่งไม่มีข้อยกเว้น ดังเช่นโรงงานน้ำตาลทรายสหไทยรุ่งเรือง และโรงงานรวมผลอุตสาหกรรมนครสวรรค์ ซึ่งเคยตั้งและขยายกำลังการผลิตฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเคยอนุญาตให้โรงงานของโจทก์เปิดหีบอ้อย โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำนวน 3 ครั้ง เนื่องจากคำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยและในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐเพื่อทางรัฐจะได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้โจทก์ ต่อมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้สั่งระงับการกำหนดวันเปิดหีบอ้อยแก่โรงงานของโจทก์ซึ่งเป็นไปตามมติส่วนใหญ่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมิใช่การชี้แนะของจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐแต่เป็นเรื่องต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พยานจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักเหตุผลให้น่ารับฟัง และได้ความจากนายสามชัยว่ารัฐบาลเคยปิดโรงงานน้ำตาลทรายที่จังหวัดลำปาง แต่ไม่สามารถปิดได้เนื่องจากชาวไร่อ้อยประท้วง นอกจากนั้นยังได้ความจากการนำสืบของจำเลยทั้งสองด้วยว่านโยบายของรัฐในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อมิให้ประชาชนและเศรษฐกิจของชาติเสียหายเป็นส่วนรวม แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ต้องการทำลายการลงทุนของเอกชนจึงได้กำหนดนโยบายที่มีเงื่อนไขในการอนุญาตเพื่อป้องกันและปราบปรามมิให้โรงงานขยายกำลังผลิตหากฝ่าฝืนก็ต้องให้จ่ายเงินทดแทนแก่รัฐพฤติการณ์ได้ความเจือสมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติในทำนองว่า คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินซึ่งถือว่าได้กระทำในนามแห่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขตามมาตรา 3 ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้ตั้งประกอบกิจการและขยายโรงงานน้ำตาลทรายจะต้องพิจารณาถึงพระราชบัญญัติน้ำตาลทราย พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512ประกอบกัน ซึ่งถือเป็นงานบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดนโยบายแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดตั้งโรงงานโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขได้ มติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย ล.93 กำหนดขึ้นไว้ใช้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของรัฐ โดยได้มีมติให้ลงโทษโรงงานที่ตั้งหรือขยายกำลังการผลิตเพิ่มจากที่ได้รับอนุญาตไว้เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเกินสิทธิเดิม ในอัตรา3,000 บาท ต่อ 1 ต้นอ้อยต่อวัน โรงงานใดไม่ประสงค์จะจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐดังกล่าวก็ต้องแก้ไขปรับปรุงโรงงานของตนให้ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตไว้ แต่ถ้าจะขอตั้งโรงงานตามกำลังการผลิตที่ได้ติดตั้งไว้เกินสิทธิเดิมต้องจ่ายเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐในอัตราดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศชาติอันเป็นมาตรการที่ใช้บังคับสำหรับผู้ฝ่าฝืนนโยบายดังกล่าวซึ่งเป็นคนละส่วนกับการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 โจทก์ทราบดีอยู่แล้วและโจทก์เคยยืนยันรับรองว่ายินดีจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขของทางราชการทุกประการดังกล่าวข้างต้น และโจทก์ก็ได้เลือกปฏิบัติในทางยินยอมชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐเพื่อประโยชน์ของโจทก์เองที่จะได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลทรายที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากที่เคยได้รับใบอนุญาตไว้โดยโจทก์เลือกไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการในทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตไว้แต่เดิม เงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมิได้เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นนโยบายที่ได้กำหนดไว้โดยชอบนั้น เมื่อโจทก์เลือกปฏิบัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นความสมัครใจของโจทก์ในการทำสัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐตามเอกสารหมาย จ.18(หรือ ล.67) พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเหตุผลที่จะฟังว่าสัญญายินยอมผ่อนชำระเงินทดแทนพิเศษให้แก่รัฐ และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน