คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1192/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาขายต้นยางพาราซึ่งอ้างว่าปลูกอยู่ในที่ดินจำเลยให้โจทก์ โจทก์จึงสั่งจ่ายเช็คสองฉบับให้จำเลยฉบับแรกเรียกเก็บเงินได้ โจทก์จึงเข้าตัดโค่นต้นยางพาราแต่ผู้ใหญ่บ้านได้คัดค้านและสั่งห้ามโจทก์ตัดโค่นต้นยางพาราในที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์โดยใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ โจทก์จึงมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่สอง แล้วบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ดังนั้น กรณีไม่ว่าที่ดินซึ่งปลูกต้นยางพาราจะเป็นของจำเลยจริงหรือไม่และกรรมสิทธิ์ในต้นยางพาราทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้โอนไปยังโจทก์แล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ในเมื่อหลังจากนั้นจำเลยมิได้ดำเนินการใดหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ใหญ่บ้านผู้เข้ามารบกวนขัดขวางการตัดโค่นต้นยางพาราของโจทก์เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่โจทก์ว่าการตัดโค่นต้นยางพาราจะได้รับความสะดวกและจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการประการใดจำเลยจึงต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญาซื้อขายต้นยางพารา การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 นั้น มีความหมายว่าต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจ แต่การยอมตามข้อคัดค้านหรือการเรียกร้องในทางอาญาหรือในทางปกครองอันมีรูปเรื่องเป็นเชิงมีสภาพบังคับให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือโจทก์ต้องจำยอมปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินคดีในทางอาญาได้นั้น กรณีย่อมไม่อยู่ในความหมายและในบังคับอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงขายต้นยางพาราทั้งหมดซึ่งอ้างว่าปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์ วันทำสัญญาโจทก์สั่งจ่ายเช็คชำระค่าต้นยางพาราแก่จำเลยรวม 2 ฉบับ เป็นเงิน 750,000 บาทต่อมาจำเลยนำเช็คฉบับแรก จำนวน 500,000 บาท ไปเรียกเก็บเงินได้แล้ว โจทก์จึงเข้าตัดโค่นต้นยางพารา แต่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2คัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่หลวงประเภททุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ให้หยุดตัดโค่นต้นยางพาราและนำเครื่องมือออกจากที่ดินโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย พร้อมทั้งขอให้จำเลยคืนเงิน500,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน630,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน615,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยขายต้นยางพาราในที่ดินอันเป็นสิทธิครอบครองของจำเลย กรรมสิทธิ์ในต้นยางพาราที่ซื้อขายจึงโอนให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญา การชำระราคาไม่ใช่เงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ต้นยางพารา สัญญาซื้อขายต้นยางพาราระงับไปเพราะโจทก์ผิดนัดชำระเงินตามเช็คฉบับที่สอง จำนวน 250,000 บาทฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่มีการรอนสิทธิเกิดขึ้นและโจทก์ยอมตามบุคคลภายนอกด้วยความสมัครใจโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะโจทก์เลือกตัดโค่นต้นยางพาราเป็นจำนวนมากแล้ว หากจำเลยจะขายต้นยางพาราให้แก่ผู้อื่นจะได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ความเสียหายของจำเลยจึงเท่ากับราคาซื้อขายต้นยางพาราตามสัญญาทั้งหมด และค่าใช้จ่ายในการรวบรวมเศษไม้ให้เป็นกอง ค่าใช้จ่ายที่จำเลยชำระให้แก่เจ้าของที่ดินข้างเคียงในการใช้เส้นทางขนย้ายไม้ เมื่อหักกับเงินที่จำเลยได้รับจากโจทก์ตามเช็คฉบับแรกแล้ว โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยอีก 357,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าต้นยางพาราอีก 256,250 บาท แก่จำเลย และให้โจทก์เข้าตัดโค่นต้นยางพาราตามสัญญาจนแล้วเสร็จพร้อมกับรวบรวมเศษไม้ให้เป็นกองเพื่อสะดวกแก่การที่จำเลยจะเข้าไปจุดไฟเผาและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินต่อไป หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหรือสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับ ให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย357,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายต้นยางพาราเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาบังคับไว้ กรรมสิทธิ์ในต้นยางพาราจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์ จำเลยปกปิดความจริงโดยนำต้นยางพาราซึ่งอยู่ในที่หลวงประเภททุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์มาทำสัญญาขายแก่โจทก์จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 545,770 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 15 และ 16พฤศจิกายน 2537 นายบุเรศผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ได้คัดค้านและสั่งห้ามโจทก์ตัดโค่นต้นยางพาราต่อไปจริง เมื่อฟังได้เช่นนี้กรณีไม่ว่าที่ดินซึ่งปลูกต้นยางพาราจะเป็นของจำเลยจริงหรือไม่และกรรมสิทธิ์ในต้นยางพาราทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะได้โอนไปยังโจทก์แล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ในเมื่อหลังจากนั้นจำเลยมิได้ดำเนินการประการใดหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ผู้เข้ามารบกวนขัดขวางการตัดโค่นต้นยางพาราของโจทก์เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่โจทก์ว่าการตัดโค่นต้นยางพาราจะได้รับความสะดวกและจะไม่ถูกดำเนินคดีและจนกระทั่งบัดนี้จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการประการใดแม้นายบุเรศจะได้มาเบิกความยืนยันเช่นนั้นต่อศาลแล้วก็ตามจำเลยจึงต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญาซื้อขายต้นยางพาราตามเอกสารหมายจ.1 ข้อ 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวน 545,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 3 เดือน แล้วหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน” ดังนั้นด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องมีความหมายว่าต้องเป็นการยอมโดยสมัครใจแต่การยอมตามข้อคัดค้านหรือการเรียกร้องในทางอาญาหรือในทางปกครองอันมีรูปเรื่องเป็นเชิงมีสภาพบังคับให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือโจทก์ต้องจำยอมปฏิบัติตามอย่างเช่นคดีนี้มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินคดีในทางอาญาได้นั้น กรณีย่อมไม่อยู่ในความหมายและในบังคับอายุความแห่งบทบัญญัติมาตรา 481 ดังกล่าวฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ กรณีฟังได้ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายใด ๆ และเงินตามเช็คฉบับที่สองจำนวน 250,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยจากโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share