คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5624/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนมีประเด็นว่าพินัยกรรมที่ น. ทำสมบูรณ์หรือไม่และทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง (โจทก์ในคดีก่อน) หรือเป็นของข. (จำเลยในคดีก่อน) ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าพินัยกรรมทำขึ้นโดยชอบและทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง (โจทก์ในคดีก่อน)คดีถึงที่สุด คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่ ข. เมื่อ ข. ถึงแก่ความตายทรัพย์พิพาทจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นบุตร ข. จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนว่าทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร อาศัยเหตุอันเป็นที่มาแห่งกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไหนอย่างไร ฟ้องโจทก์ทั้งสามในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามป.วิ.พ. มาตรา 148.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนางขันเงินสังสนธิ์ นางขันเงินเป็นบุตรของนายหนู นางเอิบ ที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นทรัพย์มรดกของนางเอิบที่ตกทอดแก่นางขันเงินและตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม แต่นายหนูสามีนางเอิบทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งสามอันดับให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 พินัยกรรมที่นายหนูทำขึ้นนั้นไม่มีผลบังคับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์ตามฟ้อง กับให้ชำระค่าเสียหายจนกว่าส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้สืบสิทธิจากนางขันเงินซึ่งเป็นคู่ความกับจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 442/2527 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ประเด็นในคดีนี้ก็เป็นเรื่องการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์รายเดียวกับคดีเดิมจึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีก่อนมี 2 ประเด็นคือ พินัยกรรมที่นายหนูทำขึ้นนั้นสมบูรณ์หรือไม่ และทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง (โจทก์ในคดีก่อน) หรือเป็นของนางขันเงินสังข์สนธิ์ (จำเลยในคดีก่อน) ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนว่าพินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยชอบและทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง (โจทก์ในคดีก่อน) คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้สืบสิทธิของนางขันเงิน (จำเลยในคดีก่อน) จะกลับมาฟ้องใหม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของนางเอิบภริยาเดิมของนายหนู ซึ่งเป็นมรดกตกทอดแก่นางขันเงินมารดาของโจทก์ทั้งสาม เมื่อนางขันเงินถึงแก่ความตายทรัพย์พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เพราะประเด็นในคดีก่อนและคดีหลังก็คือทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของใครอาศัยเหตุอันเป็นที่มาแห่งกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไหนอย่างไร ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share