คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 421.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 142,246,247.พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
พ.ศ. 2530 มาตรา 6,18(3),21. โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งเป็นการเช่าที่มีหลักฐานเป็นหนังสือและทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 โดยหลังจากวันที่ 1 กันยายน 2533โจทก์ยังคงอยู่ในสถานที่เช่าต่อไป ซึ่งถือเป็นการเช่ารายเดือนต่อไป ต่อมาโจทก์ออกจากสถานที่เช่าเมื่อปลายปี 2536 และจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยเหตุที่ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับซึ่งเท่ากับฝ่ายจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18(3)และได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่โจทก์เสียหายจริงเพราะเหตุที่ต้องออกจากที่ดินและอาคารก่อนสัญญาเช่าระงับ ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วโดยมิได้เรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่ม จึงไม่มีเหตุที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนส่วนนี้หรือไม่และไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องกำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้อีก โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืนโดยการเช่านั้น มีหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์จึงเป็นบุคคลตามมาตรา 18(3) ทั้งโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืนตามสิทธิในฐานะผู้เช่าตามสัญญาเช่าโดยชอบจึงเป็นผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้ประกอบการค้าขายอยู่ในที่ดินและอาคารที่เช่าที่ถูกเวนคืนและได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่านั้น กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายตามมาตรา 21 วรรคท้าย ค่าโอนสิทธิการเช่าเป็นเงินค่าตอบแทนที่โจทก์ผู้เช่าจ่ายให้แก่ผู้เช่าเดิมเพื่อโจทก์จะได้รับโอนสิทธิการเช่าและเข้าครอบครองที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืน ซึ่งโจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญาดังกล่าวไปแล้ว ดังนี้ เงินค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวมิใช่ความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืนโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ ก่อนทำสัญญาเช่าอาคารและก่อนตกแต่งอาคารที่เช่าที่ถูกเวนคืนโจทก์ผู้เช่าได้มีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1แล้วว่าที่ดินและอาคารที่เช่าจะถูกเวนคืนหรือไม่เมื่อหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงโจทก์มีข้อความชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าอยู่นี้อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ หาได้แจ้งว่าที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าไม่ถูกเวนคืน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 มีจำเลยที่ 2เป็นผู้ว่าการตั้งแต่ พ.ศ. 2522 จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2536และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าการตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2536จนถึงปัจจุบันจำเลยที่ 4 เป็นกระทรวงมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 5 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จำเลยที่ 4 และที่ 5เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในกิจการและการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2530อัตราค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท ด้วยมีการประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิต พ.ศ. 2534เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ปรากฏว่าที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าอยู่ภายในเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ต่อมาจำเลยที่ 1และที่ 2 มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำการสำรวจอาคารที่โจทก์เช่าหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2535 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา ทั้งนี้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนโดยเหตุที่โจทก์ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับเป็นเงิน 13,920 บาทและค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 205,700.35 บาท รวมเป็นเงิน 219,620.35 บาทแต่โจทก์ไม่ได้ไปทำสัญญา ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2536 จำเลยที่ 1และที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปวางโดยเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาถนนเพชรบุรีเพื่อชำระหนี้ตามกฎหมาย และโจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนได้แล้ว ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 5ว่า เงินค่าทดแทนที่กำหนดให้โจทก์นั้นต่ำกว่าความเป็นจริงแต่จำเลยที่ 5 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ความเป็นจริงแล้วโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 34,530,000 บาท กล่าวคือ โจทก์ต้องจ่ายค่ารับโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารแก่ผู้เช่าเดิมเป็นเงิน6,000,000 บาท เนื่องจากบริษัทโจทก์ทำการค้าขายอัญมณีโจทก์จึงเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอาคารที่เช่าอันเป็นสถานที่ประกอบการตลอดจนระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และเครื่องปรับอากาศเป็นเงิน 18,880,000 บาท นอกจากนี้ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือก่อนที่โจทก์จะเข้าตกแต่งสถานที่นั้นโจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1 แล้วว่าสถานที่ที่โจทก์จะเช่าจะถูกเวนคืนหรือไม่ จำเลยที่ 1 มีหนังสือยืนยันกับโจทก์ว่าสถานที่ดังกล่าวจะไม่ถูกเวนคืนแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องทำการก่อสร้างอาคารใหม่ให้มีสภาพเช่นเดียวกับอาคารเดิมเป็นเงิน 9,650,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 34,530,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ตามสัญญาเช่าอาคารระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับโจทก์กำหนดไว้ว่าการดัดแปลงหรือการต่อเติมหรือปลูกสร้าง รวมทั้งสัมภาระในการดัดแปลงต่อเติมหรือปลูกสร้างใด ๆ ก็ดีที่ผู้เช่าได้ทำขึ้นโดยได้รับหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าก็ตาม ต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันที อนึ่ง ผู้เช่าจะเรียกร้องเอาค่าชดเชย ค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายในการที่ทำสถานที่เช่าให้ดีขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ได้ทำการต่อเติมหรือปลูกสร้างในสถานที่เช่าดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอาคารที่เช่า ตลอดจนค่าติดตั้งระบบไฟฟ้า ประปาโทรศัพท์ และเครื่องปรับอากาศส่วนที่โจทก์อ้างว่าต้องจ่ายค่ารับโอนสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารแก่ผู้เช่าเดิมโจทก์ก็มิได้จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินหรือโรงเรือนก่อนสัญญาเช่าระงับ สัญญาเช่าอาคารระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับโจทก์มีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2530 จึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 หรือเจ้าหน้าที่มิได้เข้าครอบครองที่ดินและอาคารก่อนสัญญาเช่าระงับ ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนแต่จำเลยได้พิจารณาช่วยเหลือค่าขนย้ายทรัพย์สินเป็นเงิน 13,920 บาท และค่าเสียหายเป็นค่ารื้อถอนทรัพย์สินเนื่องจากการที่ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่าอีก 205,700.35 บาทรวมเป็นเงิน 219,620.35 บาท อันเป็นค่าทดแทนที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน2,268,379.65 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าอัญมณี และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม2530 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคาร 3 ชั้น ที่พิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2530 อัตราค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาทต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2530 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 และวันที่ 31 ธันวาคม 2534ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต พ.ศ. 2534 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าอยู่ในเขตที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ดำเนินการสำรวจที่ดินและอาคารพิพาทแล้วได้เชิญโจทก์ไปขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญาซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนเหตุที่โจทก์ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับเป็นเงิน 13,920 บาท กับเงินค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 205,700.35 บาท รวมเป็นเงิน219,620.35 บาท แต่โจทก์ไม่ไปทำสัญญา ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงได้วางเงินค่าทดแทนและแจ้งให้โจทก์ไปขอรับเงินดังกล่าว และโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่าฝ่ายจำเลยได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นธรรมหรือไม่โดยต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารคดีนี้เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือไม่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารคดีนี้มีสัญญาเช่าอาคารเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นการเช่าที่มีหลักฐานเป็นหนังสือและทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 เพราะโจทก์ทำสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2530 แต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ทั้งการเช่ามีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2530 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2533 ครั้นพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วโจทก์ยังคงอยู่ในสถานที่เช่าต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการเช่ารายเดือนต่อไปตามข้อ 14 ของสัญญาเช่าอาคารพิพาท ต่อมาโจทก์ออกจากสถานที่เช่าเมื่อปลายปี 2536 อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1มีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2535 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการกำหนดเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยเหตุที่ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับเป็นเงิน 13,920 บาทซึ่งเท่ากับฝ่ายจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 18(3) และกำหนดเงินค่าทดแทนที่โจทก์เสียหายจริง เพราะเหตุที่ต้องออกจากที่ดินและอาคารก่อนสัญญาเช่าระงับจำนวน 13,920 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วโดยมิได้เรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่ม จึงไม่มีเหตุต้องกำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้อีก
ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 21 วรรคท้าย หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืนโดยการเช่านั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6จึงเป็นบุคคลตามมาตรา 18(3) ทั้งโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืนตามสิทธิในฐานะผู้เช่าตามสัญญาเช่าโดยชอบจึงเป็นผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้ประกอบการค้าขายอยู่ในที่ดินและอาคารที่เช่าที่ถูกเวนคืน และได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากทรัพย์สินที่เช่านั้นกรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายตามมาตรา 21 วรรคท้าย
มีปัญหาต่อไปว่าโจทก์จะได้รับเงินค่าทดแทนความเสียหายหรือไม่เพียงใด สำหรับเงินค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าต้องเสียค่าโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้เช่าเดิม 6,000,000 บาทนั้น เห็นว่า ค่าโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวเป็นเงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เช่าเดิมเพื่อโจทก์จะได้รับโอนสิทธิการเช่าและเข้าครอบครองที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืนซึ่งโจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญาดังกล่าวไปแล้วเงินค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวจึงมิใช่ความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินและอาคารที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้
ส่วนเงินค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์อ้างว่าต้องเสียค่าปรับปรุงตกแต่งภายในอาคารที่เช่าเป็นเงิน 18,880,000 บาทนั้น เห็นว่า ค่าตกแต่งอาคารที่โจทก์อ้างนี้ บางรายการเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ถูกเวนคืนยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้พนักงานขาย โต๊ะพนักงานขาย เก้าอี้และโซฟาสำหรับลูกค้านั่ง รวม 17 รายการ เป็นเงิน 665,400 บาทตู้กระจกอะลูมิเนียมวางโทรทัศน์ 15,000 บาท ตู้สินค้ากระจกพร้อมถาดวางสินค้า 2 รายการ เป็นเงิน 400,000 บาทตู้เอกสาร 20,000 บาท ถังเก็บน้ำใช้สแตนเลส 50,000 บาทและทรัพย์สินที่รื้อถอนได้จำนวน 14 รายการ ที่จำเลยที่ 1ได้จ่ายค่าทดแทนความเสียหายอันเนื่องจากการรื้อถอนเป็นเงิน205,700.35 บาท ทรัพย์สินดังกล่าวมีราคาตามที่โจทก์อ้างรวมกันแล้วกว่า 1,000,000 บาท เช่นเครื่องปรับอากาศราคา 888,000 บาท ชุดโคมไฟระย้า เครื่องไฟแสงสว่างฉุกเฉิน เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า พัดลมติดเพดาน เครื่องวัดกระแสและแรงเคลื่อนไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องอุปกรณ์ระบบโทรศัพท์อักษรโลหะชื่อร้าน ทรัพย์สินเหล่านี้ยังคงเป็นของโจทก์ซึ่งสามารถรื้อถอนและขนย้ายได้โดยไม่เสียหายหรือเสียหายไม่มากนอกจากนี้วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งอาคารอีกหลายรายการที่ยังคงเป็นของโจทก์อยู่ เช่น พรมชนิดต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้นรวมกันทุกรายการเป็นเงิน 1,350,000 บาท วัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนในส่วนที่ยังคงเป็นของโจทก์อยู่นี้มีราคาอยู่บ้างและได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากการตกแต่งอาคารนี้ตั้งแต่ประมาณปี 2528 หรือ 2529 ถึง 2536เป็นเวลา 8 ถึง 9 ปี แล้ว ความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการที่ได้ลงทุนตกแต่งอาคารเพื่อประกอบการค้าขายเนื่องจากการที่ต้องออกจากที่ดินและอาคารที่เช่า ซึ่งถูกเวนคืนจึงน้อยกว่าจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ได้ความว่า หากที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าไม่ถูกเวนคืนทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะไม่บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ และตามปกติทั่วไปหากผู้เช่าไม่ผิดสัญญาเช่าก็จะไปรับอนุมัติให้เช่าต่อประกอบกับภายในของอาคารที่โจทก์ตกแต่งไว้ยังอยู่ในสภาพดี หากที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าไม่ถูกเวนคืนแล้วโจทก์ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการที่ได้ลงทุนตกแต่งอาคารไปอีกหลายปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายให้แก่โจทก์ เนื่องจากการต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลงไปเป็นเวลาอีก 1 ปี คิดเป็นค่าเสียหาย 2,488,000 บาทจึงต่ำเกินไป ศาลฎีกาเห็นว่า เงินค่าทดแทนความสำหรับความเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์ที่เป็นธรรมแก่โจทก์และสังคม คือเพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดอีก 5,000,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ หากกระทำละเมิดจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดโจทก์ฎีกาว่าก่อนทำสัญญาเช่าอาคารพิพาท และก่อนตกแต่งอาคารที่เช่า โจทก์ได้มีหนังสือสอบถามจำเลยที่ 1 แล้วว่าที่ดินและอาคารที่เช่าจะถูกเวนคืนหรือไม่ จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าไม่ถูกเวนคืน ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.13 จึงเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พิจารณาหนังสือเอกสารหมาย จ.13 แล้ว ปรากฏว่ามีข้อความชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่านี้อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ หาได้แจ้งว่าที่ดินและอาคารที่โจทก์เช่าไม่ถูกเวนคืนดังที่โจทก์ฎีกาไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามที่ศาลวินิจฉัยแล้ว จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามขอ และโจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงให้ตามที่โจทก์ขอ เพราะเป็นวันเวลาภายหลังวันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนความเสียหายเพิ่ม 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

Share