คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8124/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยซึ่งเป็นวัดวา อา รามไม่มีสิทธิมีที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี แม้จะมีผู้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยก็ไม่มีสิทธิรับจึงไม่มีสิทธิใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นเมื่อเป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ในที่ดินพิพาท จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาท เป็นของจำเลย โดย จ.เจ้าของเดิมทำพินัยกรรมยกให้ และจำเลยได้ให้พ.บุตรโจทก์เช่า โจทก์ทั้งสองอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของพ.ดังนี้กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต่างโต้แย้งกันว่าใครมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน และเมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมิได้อ้างสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือเป็นสภาพแห่งข้อหาในฟ้องแย้งดังนั้นจำเลยจึงไม่จำต้องบรรยายสาระสำคัญของการบอกเลิกการเช่าในบทกฎหมายดังกล่าวมาในฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส.ค.1 เลขที่ 3 เนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวาเมื่อเดือนมกราคม 2536 โจทก์ทั้งสองได้ขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่จำเลยได้คัดค้านอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเดิมนายจุ่น กระจับเงิน เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต่อมานายจุ่นได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นให้แก่จำเลยเมื่อนายจุ่นถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลย และจำเลยได้ให้นายพิศาล ปุ่นแก้ว บุตรโจทก์ทั้งสองเช่า โจทก์ทั้งสองอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของนายพิศาลหาได้อยู่โดยเจตนายึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนแต่อย่างใดไม่การที่โจทก์ทั้งสองไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน และนำคดีมาฟ้องเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยและโต้แย้งสิทธิของจำเลย จำเลยไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาทและเลิกเกี่ยวข้องแล้ว ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองและบริวารรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาท
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา กล่าวคือจำเลยมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าได้บอกเลิกสัญญาเช่านากับนายพิศาลเมื่อใดและได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทเมื่อใด ใครเป็นคนบอกกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบและไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้องฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ1,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2นายโพธิ์ ปุ่นแก้ว โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสละ ปุ่นแก้วโจทก์ที่ 2 ภรรยาของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือแจ้งการครอบครอง ส.ค.1ตามเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์กับที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เอกสารหมาย ล.7 ของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน
ที่โจทก์ฎีกาข้อสองว่า จำเลยซึ่งเป็นวัดวาอารามไม่มีสิทธิมีที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีแม้จะมีผู้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยก็ไม่มีสิทธิรับจึงไม่มีสิทธิใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่โจทก์ฎีกาข้อสามว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์อ้างว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นการซื้อขายที่ดินเลย แต่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์เนื่องมาจากการซื้อขาย โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิครอบครองนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่า จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองแทนจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองดีกว่าโจทก์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมนั้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยนายจุ่นเจ้าของเดิมทำพินัยกรรมยกให้ และจำเลยได้ให้นายพิศาล ปุ่นแก้ว บุตรโจทก์ทั้งสองเช่า โจทก์ทั้งสองอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของนายพิศาล กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างโต้แย้งกันว่า ใครมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันฟ้องแย้งของจำเลยมิได้อ้างสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือเป็นสภาพแห่งข้อหาในฟ้องแย้ง ดังนั้นจำเลยจึงไม่จำต้องบรรยายสาระสำคัญของการบอกเลิกการเช่าในบทกฎหมายดังกล่าวมาในฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share