แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้เงินสนับสนุนร้านค้าเดือนละ 15,000บาท เพื่อนำอาหารราคาถูกมาจำหน่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์เฉพาะลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปที่ทำงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา และลูกจ้างประเภทพนักงานกะเช้าที่ทำงานตั้งแต่เวลา 6.30 นาฬิกา ถึง 18.30 นาฬิกาเท่านั้น ส่วนพนักงานกะดึกที่ทำงานตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา ถึง 6.30 นาฬิกาและลูกจ้างอื่น ๆ ที่ทำงานล่วงเวลาหลังเวลา 18.30 นาฬิกา โจทก์ให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารในอัตราชั่วโมงละ 5 บาท เนื่องจากลูกจ้างที่ทำงานในรอบกลางคืนไม่มีร้านอาหารจัดอาหารราคาถูกจำหน่ายให้ เหตุที่โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานกะดึกชั่วโมงละ 5 บาท เนื่องจากโจทก์ไม่ได้จัดอาหารราคาถูกให้ลูกจ้างดังเช่นลูกจ้างประเภทพนักงานทั่วไปที่ทำงานกลางวันและพนักงานกะเช้า นอกจากนี้โจทก์ยังจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานทั่วไปที่ทำงานเวลากลางวันหากต้องมาทำงานล่วงเวลาในช่วงเวลาหลัง 18.30นาฬิกา นอกเหนือจากค่าล่วงเวลาอีกด้วย เห็นได้ว่า การที่โจทก์จ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวก็โดยมีเจตนาเพื่อให้เป็นเงินสวัสดิการแก่ลูกจ้างโดยแท้ แม้เงินดังกล่าวโจทก์จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำและมีจำนวนแน่นอนตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริงก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่าเป็นเงินช่วยเหลือค่าอาหาร หรือเงินค่ากะดึก เงินดังกล่าวก็ไม่เป็นค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5
แม้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม จำเลยที่ 2 พิจารณาและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเป็นการใช้ดุลพินิจและพิจารณาตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินไปชำระตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่เมื่อปรากฏในภายหลังว่าคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้จนโจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้องฟ้องบังคับ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป