คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7833/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมการโอนหุ้นของบริษัทย.โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนเป็นโมฆะ เพราะจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ผู้โอนหุ้นในหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัด โอนหุ้นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอม สิทธิฟ้องคดีในคดีนี้จึงไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด ทั้งคู่ความในคดีส่วนอาญากับคู่ความในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งมิได้เป็นคู่ความรายเดียวกัน เพราะจำเลยที่ 2 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีส่วนอาญา และประเด็นแห่งคดีในคดีส่วนอาญามีประเด็นว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือไม่ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์โอนหุ้นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกัน กรณีจึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการพิพากษาคดีนี้จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้งจำกัด จำนวน 9,000 หุ้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้ง จำกัดได้นำหุ้นของโจทก์ทั้งหมดโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันทำปลอมหนังสือโอนหุ้นทั้งฉบับ ด้วยการปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ในฐานะผู้โอนหุ้นและจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อตนเองไว้ในฐานะผู้รับโอนหุ้นโดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ให้ความยินยอม การโอนหุ้นดังกล่าวจึงเป็นโมฆะขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการโอนหุ้นของบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้งจำกัด ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนดังกล่าวเป็นโมฆะให้จำเลยที่ 1 แก้ไขทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว และยื่นหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แจ้งการแก้ไขทะเบียนผู้ถือหุ้น
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นิติกรรมการโอนหุ้นของบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้ง จำกัด เลขที่ 10981 ถึง 19980ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนเป็นโมฆะให้จำเลยที่ 1 แก้ไขทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้ง จำกัดโดยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นเลขที่ 10981 ถึง 19980 และยื่นหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครแจ้งการแก้ไขทะเบียนผู้ถือหุ้นดังกล่าว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงข้อเดียวว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์โอนหุ้นของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 หรือโจทก์โอนขายหุ้นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยความสมัครใจของโจทก์เองเกี่ยวกับเรื่องนี้จำเลยทั้งสองกล่าวในฎีกาว่า ในการพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14811/2536ของศาลแขวงดุสิต ระหว่าง พนักงานอัยการกองคดีศาลแขวงดุสิตโจทก์ นายเซ็น ยู เช็ง โจทก์ร่วม นายวิชัย ลีลาสมานชัย ที่ 1 และบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้ง จำกัด ที่ 2 จำเลยซึ่งเป็นคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้วเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญาที่โจทก์ในคดีนี้เป็นโจทก์ร่วมถูกศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้อง โดยศาลแขวงดุสิตวินิจฉัยว่าลายมือชื่อผู้โอนในหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดเป็นลายมือชื่อของโจทก์ร่วมการวินิจฉัยคดีนี้ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมได้โอนหุ้นของโจทก์ร่วมในบริษัทจำเลยที่ 2 ในคดีส่วนอาญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ดังนั้นจำเลยทั้งสองในคดีนี้จึงมิได้ร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดและลายมือชื่อโจทก์โอนหุ้นของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 ดังที่โจทก์ฟ้องนั้นเห็นว่าคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องเป็นเรื่องแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมการโอนหุ้นของบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้ง จำกัด หุ้นเลขที่ 10981ถึง 19980 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนเป็นโมฆะเพราะจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ผู้โอนหุ้นในหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัด โอนหุ้นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอม สิทธิฟ้องคดีในคดีนี้ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จแต่อย่างใด ทั้งคู่ความในคดีส่วนอาญาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14811/2536 ของศาลแขวงดุสิต กับคู่ความในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งมิได้เป็นคู่ความรายเดียวกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีส่วนอาญา และประเด็นแห่งคดีในคดีส่วนอาญากับคดีนี้ก็เป็นคนละประเด็นกัน กล่าวคือ ในคดีส่วนอาญามีประเด็นว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดโดยปลอมลายมือชื่อโจทก์โอนหุ้นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2หรือไม่ กรณีจึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการพิพากษาคดีนี้จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองได้โดยไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14811/2536 ของศาลแขวงดุสิตแต่อย่างใดแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า ลายมือชื่อโจทก์ในเอกสารที่ศาลชั้นต้นส่งไปเป็นตัวอย่างในการตรวจพิสูจน์นั้น เป็นลายมือชื่อที่โจทก์ลงไว้ตามปกติ มิได้จงใจเขียนให้ผิดไปจากเดิมดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังรายงานการตรวจพิสูจน์ ของกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์จึงชอบแล้วเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลายมือชื่อผู้โอนในหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดเอกสารหมาย จ.6 มิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ก็แสดงว่ามีคนปลอมลายมือชื่อโจทก์โอนหุ้นพิพาทของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 และพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทหยูซัคเซสเทรดดิ้ง จำกัดได้มีหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนผู้ถือหุ้นจากโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่โจทก์มิได้โอนขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมบ่งบอกได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดโดยลงลายมือชื่อโจทก์โอนหุ้นของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2ดังที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น การโอนหุ้นของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง ดังคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง
พิพากษายืน

Share