คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6376/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 6045 และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046 ของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4094 ซึ่ง ส.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อมา ส.แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4094 ออกเป็นแปลงย่อยอีก5 โฉนด และเป็นโฉนดเดิม 1 โฉนดในคราวเดียวกันเป็นแปลงย่อย โฉนดเลขที่ 6044,6045(ของโจทก์),6046 (ที่ดินพิพาท),6047 และ 6048 และในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นเหตุ ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6045 ของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ จึงได้เกิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046ของจำเลยทั้งสองเพื่อให้ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนี้จึงเป็นกรณีที่ดินโฉนดเลขที่ 4094 แบ่งแยกกันเป็นเหตุให้ ที่ดินแปลงหนึ่งคือที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์ย่อม ได้สิทธิทางจำเป็นที่จะสัญจรในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046ซึ่งเป็นแปลงที่ได้แบ่งแยกกัน การที่ ส.เจ้าของที่ดินเดิมแบ่งแยกที่ดินพิพาทมาเพื่อให้เป็นทางสัญจรแก่ที่ดินโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินแปลงในได้ออกสู่ทางสาธารณะและมีความกว้าง 3 เมตร เพื่อให้ที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ มิฉะนั้นจะยากแก่การจำหน่ายที่ดินแปลงในและจะทำให้ที่ดินแปลงในมีราคาต่ำ ดังนั้นทางพิพาทซึ่งมีความกว้าง 3 เมตร ย่อมพอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใน และถือได้ว่าทางพิพาทที่มีความกว้าง 3 เมตร ทำให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046 ของจำเลยทั้งสองเสียหายน้อยที่สุดตรงตามเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดิน เดิมที่แบ่งแยกทางพิพาทออกมาเป็นแปลงย่อย ดังที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสามประกอบมาตรา 1350 แล้ว กรณีแบ่งแยกที่ดินกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งคือที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ และโจทก์ได้สิทธิทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยโจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าทดแทนแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่6045 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6046,6047 เลขที่ดิน 1003, 1004 เนื้อที่ 30 ตารางวา และ75 ตารางวา ตามลำดับ เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 648 ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทกว้าง 3 เมตร ยาว 40 เมตร ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 6046 ของจำเลยทั้งสองตกเป็นทางสาธารณะทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นจำต้องให้ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 6045 ผ่านเป็นถนนเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วลวดหนามที่สร้างขึ้นบนโฉนดที่ดินเลขที่ 6046 ให้อยู่ในสภาพที่โจทก์เข้าออกได้โดยสะดวก หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนและจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสองดำเนินการแก้ไขทางทะเบียนโดยให้โฉนดที่ดินเลขที่ 6046 ดังกล่าวข้างต้นตกเป็นทางสาธารณะ หรือทางภารจำยอม หรือทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6045 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเปิดทางให้โจทก์เข้าออกได้
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ทางพิพาทซึ่งกว้าง 1 เมตรเศษที่มีอยู่ในปัจจุบันในโฉนดที่ดินเลขที่ 6046 เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 6045 ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนทางจำเป็นในที่ดินดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนให้จำเลยทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 2,000 บาท คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 6046 กว้าง 3 เมตร ยาว 40 เมตร ตามฟ้องเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 6045 ของโจทก์และโจทก์ไม่ต้องเสียค่าทดแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6045 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6046 เนื้อที่ 30 ตารางวาพื้นที่สีแดงในแผนที่ถนนเอกสารหมาย จ.17 อันเป็นที่ดินพิพาท เดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกันเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ซึ่งนางสุนีย์ ไร่ผล เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมานางสุนีย์แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นแปลงย่อยจำนวน 5 แปลง คงเหลือโฉนดเดิม 1 แปลง แล้วขายโฉนดแปลงย่อยบางแปลง จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากนางสุนีย์ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินต่อจากผู้อื่นที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เพียงทางเดียวคือทางในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทางจำเป็นดังกล่าวกว้าง 1 เมตรเศษที่มีอยู่ในปัจจุบันดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเหมาะสมแล้วเพราะโจทก์มีอาชีพทำขนมระยะทางจากที่ดินโจทก์มาตามทางพิพาทไปสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ซอย 3 ซึ่งเป็นทางสาธารณะมีความยาวประมาณ 20 เมตร ใช้เวลาเกิน 1 นาที ไม่เป็นการลำบากต่อการจอดรถยนต์บรรทุกไว้ที่ถนนเศรษฐกิจ 1 ซอย 3แล้วยกของเข้ามาส่งที่บ้านโจทก์ หรือหากจะใช้รถจักรยานยนต์หรือรถเข็นก็สามารถเข้าถึงบ้านโจทก์ได้เลยและปกติโจทก์ก็ใช้รถเข็นเป็นประจำ ทั้งกรณีมิใช่ที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ ตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และวรรคสี่ โจทก์จึงต้องเสียค่าทดแทนแก่จำเลยทั้งสอง เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 6045และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046 ของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4094 เนื้อที่ 1 ไร่เศษซึ่งนางสุนีย์ ไร่ผล เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมานางสุนีย์แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4094 ออกเป็นแปลงย่อยอีก 5 โฉนดและเป็นโฉนดเดิม 1 โฉนด ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งปรากฏว่านางสุนีย์แบ่งแยกที่ดินในคราวเดียวกันเป็นแปลงย่อยโฉนดเลขที่ 6044, 6045 (ของโจทก์),6046 (ที่ดินพิพาท), 6047 และ 6048 และในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6045 ของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ จึงได้เกิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่6046 ของจำเลยทั้งสองเพื่อให้ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ซอย 3 ซึ่งเป็นถนนสาธารณะจึงเป็นกรณีที่ดินโฉนดเลขที่ 4094 แบ่งแยกกัน เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งคือที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 และโจทก์ก็ได้สิทธิทางจำเป็นที่จะสัญจรในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046ซึ่งเป็นแปลงที่ได้แบ่งแยกกันอยู่แล้ว เพียงแต่มีปัญหาว่าจะได้สิทธิทางจำเป็นกว้างยาวเท่าใดซึ่งเมื่อพิเคราะห์รูปแผนที่ของที่ดินพิพาทตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 รูปจำลองแผนที่ท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 และแผนที่ถนนเอกสารหมาย จ.17 แล้วจะเห็นได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046เลขที่ดิน 1003 มีรูปที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างเพียง 3 เมตร ยาวถึง 40 เมตร ซึ่งเป็นรูปที่สอดคล้องกับการใช้เป็นทางสัญจรของที่ดินแปลงในมากกว่าที่จะใช้ทำประโยชน์อื่นแสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทนางสุนีย์แบ่งแยกมาเพื่อให้เป็นทางสัญจรแก่ที่ดินโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินแปลงในได้ออกสู่ทางสาธารณะ และลักษณะของที่ดินพิพาทที่มีความกว้างเพียง3 เมตร ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของนางสุนีย์ต่อไปว่าเพื่อให้ที่ดินพิพาททั้งแปลงเป็นทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมด้วย มิฉะนั้นจะยากแก่การจำหน่ายที่ดินแปลงในและจะทำให้ที่ดินแปลงในมีราคาต่ำ ดังนั้นทางพิพาทซึ่งมีความกว้าง 3 เมตร ย่อมพอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใน ทั้งยังสอดคล้องกับเจตนาของเจ้าของเดิมที่แบ่งแยกที่ดินแปลงพิพาทออกมาเพื่อให้เป็นทางสัญจรแก่ที่ดินแปลงในจึงถือได้ว่าทางพิพาทที่มีความกว้าง 3 เมตร ทำให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6046 ของจำเลยทั้งสองเสียหายน้อยที่สุดตรงตามเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดินเดิมที่แบ่งแยกทางพิพาทออกมาเป็นแปลงย่อย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสามประกอบมาตรา 1350 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 6046 กว้าง 3 เมตรยาว 40 เมตร เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์จึงเหมาะสมแล้ว และเมื่อกรณีเป็นเรื่องแบ่งแยกที่ดินกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งคือที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะและโจทก์ได้สิทธิทางจำเป็นดังวินิจฉัยมาโจทก์ก็ไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแก่จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350
พิพากษายืน

Share