แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้นายจ้างปิดกิจการการปิดกิจการอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเมื่อต้องปิดกิจการซึ่งมีการเลิกจ้างแล้ว การเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลของการปิดกิจการว่ามีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะปิดกิจการหรือไม่ นายจ้างปิดกิจการโดยไม่ได้ประสบภาวะการขาดทุนตามที่อ้าง ย่อมไม่มีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ การที่นายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างกรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
คดีทั้งสามสิบเอ็ดสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์และจำเลยตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 31 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กับคืนเงินประกัน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ รายละเอียดตามฟ้องแต่ละสำนวน
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริง หากเรียกร้องได้อย่างสูงก็เท่ากับค่าจ้าง 5 วันทำงาน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้จึงปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2539 สัญญาจ้างจึงสิ้นสุดลงโดยไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 ได้ปิดกิจการดังกล่าว หากโจทก์จะเสียหายจริงอย่างมากก็ไม่เกินคนละ 500 บาทจำเลยที่ 2 แจ้งปิดกิจการเป็นการล่วงหน้าแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หากจะเรียกได้ก็ไม่เกิน5 วันทำงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในอัตราที่ศาลกำหนด กับคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2539ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างอันเนื่องมาจากสาเหตุการปิดกิจการนั้นถือได้หรือไม่ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่าแม้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ปิดกิจการดังที่จำเลยที่ 2อ้างก็ตาม แต่การปิดกิจการอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และเมื่อปิดกิจการซึ่งต้องมีการเลิกจ้างแล้ว การเลิกจ้างนั้นจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลของการปิดกิจการว่ามีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะปิดกิจการหรือไม่สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปิดกิจการของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มิได้ประสบภาวะการขาดทุน ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ประสบภาวะการขาดทุนดังที่ศาลแรงงานกลาง ฟังมาแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดได้ การที่จำเลยที่ 2 ปิดกิจการและเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดจึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน