คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6111/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้นให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302(3)(4)” และ มาตรา 302 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและผิดสัญญาที่จำเลยตกลงหรือสัญญาว่าจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้นคืนให้แก่โจทก์นั้น มิได้แยกต่างหากจากสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอมแล้ว หากแต่เป็นการยอมรับภาระในหนี้ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้ครบจำนวนหนี้ตามข้อ 1แห่งสัญญาประนีประนอมยอมความจึงจำเป็นต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วยว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง และคำฟ้องนี้จำต้องให้ศาลแพ่งวินิจฉัยเสียก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีหรือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นคือศาลแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทไฟฟ้าไทยแสงจำกัด จำเลยที่ 1 นายกำพล อุดมชนะโชค จำเลยที่ 2 และโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ ครั้นวันที่ 8 มิถุนายน 2531 คู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลแพ่งและศาลแพ่งได้พิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อมาโจทก์คดีนี้ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ครบถ้วนแล้ว และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2532 จำเลยคดีนี้ได้มีหนังสือถึงโจทก์คดีนี้ยืนยันตามข้อ 5 แห่งสัญญาประนีประนอมยอมความที่ระบุไว้ว่า”ข้อ 5 เมื่อจำเลยทั้งสามได้ผ่อนชำระหนี้ครบจำนวนหนี้ตามข้อ 1 แก่โจทก์แล้วโจทก์จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ 5.1 โอนสิทธิการเช่าตามข้อ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 (โจทก์คดีนี้) ทั้งนี้เพียงเท่าที่สิทธิการเช่านั้นยังมีเหลืออยู่เท่าใด ในขณะนั้น” ในกรณีนี้จำเลยคดีนี้ขอให้สัญญาว่าในการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 3 (โจทก์คดีนี้) ดังกล่าวนั้น จำเลยคดีนี้จะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวนั้นเอง ตามหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ครั้นวันที่ 24 มกราคม 2539 จำเลยคดีนี้ได้ดำเนินการโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้น พร้อมกับจัดให้โจทก์คดีนี้ทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่ไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียม 1,200,340 บาท ทำให้โจทก์คดีนี้ต้องกู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระแทนจำเลยไปก่อน โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันกู้ยืมถึงวันฟ้องเป็นเงิน 75,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยคดีนี้ชำระเงินจำนวน 1,275,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับต่อจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์คดีนี้
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยค้างชำระหนี้อีก9,975,350 บาท แล้วต่อมาได้ตกลงลดยอดหนี้เหลือ 7,600,000 บาทและจำเลยจะโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้นคืนโจทก์โดยจำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายในการโอนดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) มีคำสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 9385/2531 ของศาลแพ่ง ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 คือศาลแพ่งจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์เสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในมาตรา 4 มาตรา 4 ทวิ มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา มาตรา 4 เบญจ มาตรา 4 ฉมาตรา 5 และมาตรา 6 ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้(1)(2) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302(3)(4)” และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น” พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและผิดสัญญาตามหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า การที่จำเลยตกลงหรือสัญญาว่าจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้นคืนให้แก่โจทก์นั้นมิได้แยกต่างหากจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือก่อให้เกิดหนี้โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ หากแต่เป็นการยอมรับภาระในหนี้ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้ครบจำนวนหนี้ตามข้อ 1 แห่งสัญญาประนีประนอมยอมความจึงจำเป็นต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วยว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงนับได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และคำฟ้องนี้จำต้องให้ศาลวินิจฉัยเสียก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง ดังนั้นคำฟ้องคดีนี้จึงต้องเสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีหรือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นคือศาลแพ่ง ตามนัยแห่งบทกฎหมายข้างต้น มิใช่เสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้
พิพากษายืน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ต่อไป

Share