คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า “ลักษณะนี้” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 ว่าด้วย การนับระยะเวลาคือลักษณะ 5 ของบรรพ 1 ซึ่งว่าด้วยหลักทั่วไป มิได้ใช้บังคับเฉพาะเรื่องนิติกรรม แต่ใช้บังคับในการออกหมายบังคับคดีด้วย แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 273 วรรคสามจะได้บัญญัติว่า ระยะเวลาในคำบังคับให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับหรือข้อความท้ายคำบังคับที่ระบุให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับก็ไม่อาจถือว่าเป็นข้อยกเว้นที่จะต้องนับระยะเวลาในวันแรกรวมเข้าด้วย ต้องนับระยะเวลาตั้งแต่วันรุ่งขึ้นจากวันปิดคำบังคับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคหนึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อให้เวลาแก่ลูกหนี้ที่จะปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หากยังอยู่ในระยะเวลาดังกล่าวศาลก็จะยังไม่ออกหมายบังคับคดี แม้วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาจะเป็นวันหยุดราชการซึ่งตามปกติธนาคารโจทก์จะหยุดทำการ ทำให้จำเลยไม่สามารถติดต่อกับโจทก์ได้ แต่วันเปิดทำการในวันจันทร์และหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันเปิดทำการดังกล่าวแม้จะออกเร็วไป 1 วัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มิได้ไปดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยในวันที่ออกหมายบังคับคดีแต่ไปดำเนินการบังคับคดีเมื่อกำหนดเวลาตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง โดยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 ต่อมาศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ เจ้าพนักงานศาลปิดคำบังคับยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2538โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันเดือนกันนั้น ครั้นวันที่ 19 มกราคม 2538จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า การปิดคำบังคับมีผลเมื่อล่วงพ้น 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง รวมกับระยะเวลา 7 วัน ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ จึงเป็นเวลาทั้งสิ้น 22 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นจากวันปิดคำบังคับคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2537ครบกำหนด 22 วัน ในวันที่ 14 มกราคม 2534 ซึ่งตรงกับวันเสาร์รุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ ทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดทำการตามประเพณี วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 จะปฏิบัติตามคำบังคับได้คือวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2538 แต่โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 บัญญัติไว้ให้ออกหมายบังคับคดีได้ต่อเมื่อระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้ว ที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันที่ 16 มกราคม 2538 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำบังคับจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276, 296 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ได้ปฏิบัติไปแล้วและงดการบังคับคดีระหว่างรอการวินิจฉัยชี้ขาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายบังคับคดี และแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ถอนการบังคับคดี
โจทก์อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 โดยขอให้ศาลมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินขออายัดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์นำยึดไว้ตามหมายบังคับคดีโดยนำยึดไว้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538 เกี่ยวกับคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์นี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ใช่ทรัพย์ที่พิพาทกันในคดี จึงให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งนี้ด้วย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งจำหน่ายคดีในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ระหว่างพิจารณาทั้งนี้เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทำคำพิพากษาเสร็จแล้วจึงไม่จำเป็นต้องสั่งคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาอีก ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดีนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 7 วันเจ้าพนักงานศาลปิดคำบังคับยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ซึ่งจะมีผลเมื่อล่วงพ้น 15 วัน แล้วและเมื่อรวมกับระยะเวลาที่ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาอีก 7 วันจึงเป็นเวลา 22 วัน โจทก์อ้างว่าระยะเวลา 22 วัน ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันปิดคำบังคับคือวันที่ 23 ธันวาคม 2537 และครบกำหนด22 วัน ในวันที่ 13 มกราคม 2538 เกี่ยวกับการนับระยะเวลานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2535 มาตรา 193/1 บัญญัติว่าการนับระยะเวลาทั้งปวงให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายคำสั่งศาลระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่นมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวันสัปดาห์เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกันคือให้เริ่มนับตั้งแต่วันถัดไปหรือวันรุ่งขึ้น คำว่า “ลักษณะนี้” ในมาตรา 193/1 คือลักษณะ 5 ของบรรพ 1 ซึ่งว่าด้วยหลักทั่วไป จึงเห็นได้ว่ามิได้ใช้บังคับเฉพาะเรื่องนิติกรรมดังที่โจทก์ฎีกา แต่ใช้บังคับในกรณีนี้ด้วย แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 273 วรรคสามจะได้บัญญัติว่า ระยะเวลาในคำบังคับให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับหรือข้อความท้ายคำบังคับที่ระบุให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ ก็ไม่อาจถือว่าเป็นข้อยกเว้นที่จะต้องนับระยะเวลาในวันแรกรวมเข้าด้วย กรณีต้องนับระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นจากวันปิดคำบังคับคือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปและครบกำหนด22 วัน ในวันที่ 14 มกราคม 2538 แต่วันที่ 14, 15 มกราคม 2538เป็นวันเสาร์และอาทิตย์ซึ่งหยุดราชการศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2538 จำเลยที่ 2 โต้แย้งว่าเมื่อวันสุดท้ายเป็นวันหยุดราชการก็ต้องนับวันเปิดทำการเป็นวันสุดท้าย วันที่ 16 ดังกล่าวจึงยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยที่ 2จะปฏิบัติตามคำบังคับได้ ยังมิได้ล่วงพ้นระยะเวลาซึ่งศาลชั้นต้นจะมีอำนาจออกหมายบังคับคดี การออกหมายบังคับคดีจึงเป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 276 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์เพื่อให้เวลาแก่ลูกหนี้ในอันที่จะปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หากยังอยู่ในระยะเวลาดังกล่าวศาลก็จะยังไม่ออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของลูกหนี้กรณีนี้แม้วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาจะเป็นวันหยุดราชการซึ่งตามปกติธนาคารโจทก์จะหยุดทำการด้วย อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถติดต่อกับโจทก์ได้ แต่วันเปิดทำการในวันจันทร์ที่16 มกราคม 2538 และต่อ ๆ มาหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันเปิดทำการดังกล่าว แม้จะออกเร็วไป1 วัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มิได้ไปดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ออกหมายบังคับคดีแต่ไปดำเนินการบังคับคดีเมื่อกำหนดเวลาตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้ว การที่จำเลยที่ 2มิได้ชำระหนี้ซึ่งก็คงต้องมีการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีได้อยู่นั่นเอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดีและถอนการบังคับคดี ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า หมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นลงวันที่16 มกราคม 2538 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มีผลบังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องถอนการบังคับคดี

Share