คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หนังสือสัญญาว่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ฉบับพิพาทจะได้กำหนดให้ทำเฟอร์นิเจอร์ส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2532 แต่ต่อมาโจทก์ ในฐานะผู้รับจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก็ได้ตกลงเลื่อนกำหนดวันส่งมอบงานออกไปเป็นให้ส่งมอบงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดตามสัญญาเดิม เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์ ส่งมอบงานล่าช้าโดยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาก่อนวันที่ 5สิงหาคม 2533 หาได้ไม่ โจทก์ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้วว่าหากทำไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 ก็จะยอมให้ปรับโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ผ่อนผันโดยไม่ทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบล่าช้าหรือไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเดิมคู่สัญญาต่างมีเจตนาระงับกันไปโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดสัญญาอีกต่อไปจนกว่าจะล่วงพ้นวันที่ 5 สิงหาคม2533 ดังนี้ เมื่อโจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนทั้งหมดแล้วในวันที่ 10 กันยายน 2533 ล่าช้าไปจากวันที่5 สิงหาคม 2533 เป็นระยะเวลา 35 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1ก็มิได้โต้แย้ง เท่ากับว่าโจทก์ผิดสัญญาเพียง 35 วันที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดปรับรายวันรวม 35 วัน มาจึงชอบแล้ว เบี้ยปรับถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามข้อตกลง ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน2,100,809 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 105,040 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,205,849 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,100,809 บาทนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การโดยจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งด้วยว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาว่าจ้างเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับห้างสุนทรเฟอร์นิเจอร์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ทำงานและส่งมอบให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดรวมทั้งคุณภาพของงานต่ำ บางส่วนชำรุด ทั้งก่อนงานแล้วเสร็จโจทก์ได้ขอขยายเวลาออกไปอีก โดยตกลงจะให้จำเลยทั้งสามปรับวันละ 5,000 บาท หากทำงานไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่ขอขยายออกไป ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 2,437,542 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,796,609 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์ไปติดตั้งภายในอาคารวิภาวดีเซ็นเตอร์คอนโดเทลของจำเลยที่ 1จำนวน 158 ชุด กำหนดทำให้แล้วเสร็จส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2532 ตามหนังสือสัญญาว่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ทำไม่แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญาแต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงขยายระยะเวลาติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ออกไป โดยจะติดตั้งให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533หากไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนด โจทก์ยินยอมให้ปรับวันละ 5,000 บาทโดยเริ่มนับตั้งแต่วันสัญญาแล้วเสร็จจนถึงวันที่แล้วเสร็จจริง ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.3 ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1ในวันที่ 4 สิงหาคม 2533 แต่จำเลยที่ 1 ได้ให้โจทก์จัดการแก้ไขเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งโจทก์ก็ได้จัดการการแก้ไขและส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 10 กันยายน 2533 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1 เกินกำหนดไป 35 วันให้โจทก์เสียค่าปรับวันละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 175,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1มีสิทธิเรียกค่าปรับจากโจทก์เกินกว่า 35 วันได้หรือไม่ จำเลยที่ 1ฎีกาว่า โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยส่งมอบงานล่าช้า เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจใช้อาคารได้เป็นเวลา 313 วัน จึงขอให้กำหนดค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ให้ได้รับมากกว่า 175,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาว่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ตามเอกสารหมาย จ.4 จะได้กำหนดให้ทำเฟอร์นิเจอร์ส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2532 แต่ต่อมาเมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2533 โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างก็ได้ตกลงเลื่อนกำหนดวันส่งมอบงานออกไปเป็นให้ส่งมอบงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเดิมเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้า โดยถือว่าโจทก์ผิดสัญญาก่อนวันที่ 5 สิงหาคม 2533 หาได้ไม่ เพราะโจทก์ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้วว่าหากทำไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2533 ก็จะยอมให้ปรับ โดยจำเลยที่ 1ก็ยินยอมให้ผ่อนผันโดยไม่ทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่า ข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบล่าช้าหรือไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเดิมคู่สัญญาต่างมีเจตนาระงับกันไปโดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาอีกต่อไปจนกว่าจะล่วงพ้นวันที่ 5 สิงหาคม 2533 เมื่อได้ความว่าโจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมดในวันที่ 10 กันยายน 2533 ล่าช้าไปจากวันที่ 5 สิงหาคม 2533 เป็นระยะเวลา 35 วันซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งว่าโจทก์มิได้ส่งมอบงานแก่จำเลยที่ 1แล้วเสร็จในวันเวลาดังกล่าว จึงฟังได้ว่าโจทก์ส่งมอบงานทั้งหมดแล้วเสร็จในวันที่ 10 กันยายน 2533 ครบถ้วนแล้ว เท่ากับว่าโจทก์ผิดสัญญาเพียง 35 วัน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับมากไปกว่านี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดปรับรายวันรวม 35 วันมานั้นชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดดอกเบี้ยจากค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เบี้ยปรับถือเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามข้อตกลง ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ ดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าสมควรได้นั้นก็เป็นเบี้ยปรับเช่นเดียวกัน เมื่อศาลล่างทั้งสองกำหนดเบี้ยปรับให้โจทก์ใช้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราวันละ 5,000 บาท เต็มตามจำนวนในข้อสัญญาเอกสารหมาย ล.3 ก็นับได้ว่าศาลได้กำหนดค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงไม่กำหนดดอกเบี้ยในค่าเสียหายให้อีก
พิพากษายืน

Share