คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่ง วินัยและการลงโทษของพนักงานระบุว่า “เมื่อพนักงานทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้ปลดออก ฯลฯ (7) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลสมควรเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการ” และข้อบังคับที่กล่าวมานี้ไม่ได้ระบุถึงการสั่งพักงานเพื่อสอบสวนความผิดหรือให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ โจทก์มีสิทธิปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานในกรณีตามที่ระบุไว้ใน (7) ตั้งแต่วันที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงานเกิน 7 วันทำการเป็นต้นไป มิใช่ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงาน และโจทก์มีสิทธิปลดออกจากงานได้ในทันที การที่พนักงานของโจทก์เสนองานล่าช้าไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่พนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นที่จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานให้แก่โจทก์ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 เมื่อระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ การที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานโดยให้มีย้อนหลังดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ การที่จำเลยมิได้มาทำงานให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้ทันทีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ดังนี้โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยมิได้ทำงานให้แก่โจทก์ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานในทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่เกิน 7 วัน ก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยต่อมาจึงเป็นกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 407 การที่โจทก์รู้ตั้งแต่วันที่จำเลยขาดงานเกิน 7 วันแล้วว่าโจทก์มีสิทธิปลดจำนองออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยในช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นเนื่องจากตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างดังกล่าวนั้นคืนจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยเนื่องจากขาดงานติดต่อกันคราวเดียวโดยไม่มีเหตุสมควรเกิน 7 วันทำการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2536 และโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้จำเลยระหว่างวันที่ 5 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2536 รวม 26 วัน เป็นเงิน 9,547.51 บาทกับเงินยืมเพื่อการศึกษาบุตรจำนวน 6,200 บาท ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับ ต่อมานางพรทิพา เรืองชัย ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนจำนวน 5,000 บาท คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดอีก 10,747.51 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2536 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,422.16 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยค้างชำระ 13,169.67 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน10,747.51 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยขาดงานติดต่อกันคราวเดียวโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นเวลาเกินกว่า7 วันทำการนับแต่วันที่ 5 เมษายน 2536 จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับเงินเดือนค่าจ้างรายวันตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534หมวด 3 ข้อ 20 และในช่วงเวลาที่จำเลยขาดงานนั้นถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิด โจทก์ย่อมมีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและให้มีผลเลิกจ้างได้โดยพลันที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานในวันที่ 24 พฤษภาคม 2536เนื่องจากพนักงานของโจทก์จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเสนอฝ่ายบริหารคำสั่งปลดจำเลยจึงได้ออกมาล่าช้า แต่ถือว่าเป็นการปลดจำเลยออกจากงานในปัจจุบัน มิใช่เป็นการปลดจำเลยโดยย้อนหลัง จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่จำเลยขาดงานเพราะการขาดงานมิใช่วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งตามระเบียบที่กล่าวมาบังคับให้โจทก์จ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่ลูกจ้าง การที่จำเลยรับเงินเดือนค่าจ้างไปจากโจทก์สำหรับการทำงานระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2536 จึงเป็นการรับเงินค่าจ้างไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้ จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานะที่เป็นลาภมิควรได้นั้น พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยขาดงานเกินกว่า 7 วันทำการโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์จึงมีอำนาจเลิกจ้างจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 กล่าวคือ ในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ได้กระทำผิดและสัญญาจ้างไม่ได้กำหนดว่าจะจ้างนานเท่าใดนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป หรือกรณีลูกจ้างกระทำผิดละทิ้งการงานไปเสียก็ให้สิทธินายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงานได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แสดงว่าให้มีผลเป็นการเลิกจ้างโดยพลัน กรณีหนึ่งและการเลิกจ้างที่มีผลในอนาคตอีกกรณีหนึ่ง ไม่ใช่มีผลย้อนหลัง ประกอบกับโจทก์ไม่มีระเบียบข้อบังคับหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้อำนาจโจทก์ในการเลิกจ้างลูกจ้างย้อนหลังได้ ทั้งการกระทำดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นคุณหรือประโยชน์แก่ลูกจ้างยิ่งกว่า โจทก์จึงไม่อาจมีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันแรกที่จำเลยขาดงานนั้นได้ จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินเดือนค่าจ้างที่ได้รับไปแล้วให้แก่โจทก์ ในประเด็นนี้ตามอุทธรณ์ของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยจะต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานะลาภมิควรได้ จึงมีข้อที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์หรือไม่ ในข้อที่ว่าโจทก์มีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างจำเลยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 5 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยขาดงานในวันแรกนั้น ปรากฏตามข้อบังคับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4 ว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้งการออกจากตำแหน่ง วินัย และการลงโทษของพนักงาน ข้อ 36 ระบุว่า”เมื่อพนักงานทำผิดวินัยร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้ปลดออก ฯลฯ(7) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลสมควรเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการ” และข้อบังคับที่กล่าวมานี้ไม่ได้ระบุถึงการสั่งพักงานเพื่อสอบสวนความผิดหรือใช้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ โจทก์มีสิทธิปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานในกรณีตามที่ระบุไว้ใน (7) ตั้งแต่วันที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงานเกิน 7 วันทำการเป็นต้นไป มิใช่ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงานและโจทก์มีสิทธิปลดออกจากงานได้ในทันที การที่พนักงานของโจทก์เสนองานล่าช้าไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่พนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นที่จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานให้แก่โจทก์ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติว่า”อันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” ดังนั้นในปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิออกคำสั่งเลิกจ้างให้มีผลย้อนหลังได้หรือไม่นั้น เมื่อระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ การที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
อย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยมิได้มาทำงานให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน โจทก์ย่อมมีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้ทันที โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยมิได้ทำงานให้แก่โจทก์ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วันแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ปลดจำเลยออกจากงานในทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่เกิน 7 วัน โจทก์ก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2536 จึงเป็นกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลนั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่” เมื่อโจทก์รู้ตั้งแต่วันที่จำเลยขาดงานเกิน 7 วันแล้วว่าโจทก์มีสิทธิปลดจำนองออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยในช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นเนื่องจากตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวนั้นคืนจากจำเลย
พิพากษายืน

Share