คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลักน้ำมันที่ปั๊มผู้เสียหายโดยใช้สายไฟต่อขั้วแบตเตอรี่กับเครื่องปั๊มดูดน้ำมันจากถังใต้ดินมาใส่ถังในรถยนต์ เมื่อดูดน้ำมันได้ 4 ถังแล้วจำเลยที่ 2 ดึงสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ให้ปั๊มติ๊กหยุดทำงานเพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ 5 ทำให้เกิดประกายไฟเป็นเหตุให้เพลิงไหม้ดังนี้พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมาลักทรัพย์โดยวิธีการเช่นนี้ทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ในบริเวณนั้นง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท เพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเนื่องจากวิธีการในการลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซึ่งกระทำด้วยความประมาท ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องมีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท.(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2530)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักน้ำมันเบนซินพิเศษจำนวน 500 ลิตรของห้างหุ้นส่วนจำกัดศรโชติธนการผู้เสียหาย โดยใช้สายไฟต่อจากขั้วแบตเตอรี่กับเครื่องปั๊มเพื่อดูดน้ำมันเบนซินพิเศษจากถังน้ำมันของผู้เสียหายเข้าสู่ถังน้ำมันที่จำเลยเตรียมมา เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังทำให้เกิดระเบิดลุกไหม้ ทรัพย์สินของผู้เสียหายและผู้อื่นเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 225, 335, 336 ทวิริบของกลางและใช้ราคาน้ำมันแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 225, 81, 91 ฐานลักทรัพย์จำคุกคนละ 6 ปี ฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทจำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78คงจำคุกคนละ 6 ปี ริบของกลางให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ราคาน้ำมันแก่ผู้เสียหาย สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ในการลักน้ำมันนี้จำเลยเตรียมถังใส่น้ำมันมาหลายใบ เมื่อดูดน้ำมันเต็มถังหนึ่งแล้วจะต้องเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังใหม่ ในการเปลี่ยนสายยางต้องถอดสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่เพื่อให้ปั๊มติ๊กหยุดทำงาน ขณะเกิดเหตุดูดน้ำมันได้ 4 ถังแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดึงสายไฟออกจากขั้วแบตเตอรี่ เพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ 5 ก็เกิดประกายไฟขึ้น เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ขณะนั้นจำเลยที่ 3 กำลังชะโงกหน้าเข้าไปดูน้ำมันในถังที่อยู่ในรถว่าเต็มหรือยัง จึงถูกแรงดันจากเพลิงไหม้กระแทกกระเด็นออกมา เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นคนถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันมาลักทรัพย์โดยวิธีการเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเพราะแบตเตอรี่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันเป็นวัตถุที่ติดไฟได้ง่าย ทั้งวิธีการลักน้ำมันของจำเลยทั้งสองทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้นและเป็นการง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเนื่องจากวิธีการในการลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซึ่งกระทำด้วยความประมาท ก็ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share