แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ทนายความจำเลยที่ 2และที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นพร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความลงวันที่เดียวกันกับคำร้องระบุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้แต่งทนายความและมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความ แต่มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้องตามที่จดทะเบียนไว้ ศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความและอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้อง หลังจากนั้นมีการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 1 ครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์เป็นฉบับเดียวกันภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น โดย ส. ทนายความเป็นผู้เรียงอุทธรณ์พร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความ 2 ฉบับ ลงวันที่เดียวกันกับอุทธรณ์ ฉบับหนึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งทนายความ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 ส่วนอีกฉบับหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้แต่งทนายความและลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความดังนี้ ในส่วนของจำเลยที่ 3 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับจำเลยที่ 2 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์และได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นเพียงแต่ใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 3 ฉบับแรกไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 3ที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่จำเลยที่ 3 ได้แก้ไขข้อบกพร่องโดยยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความฉบับใหม่ไว้แล้วคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันจำเลยที่ 3 มาแต่เริ่มแรก ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นต้องสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 อีก แม้จำเลยที่ 3 จะไม่เคยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาก่อน แต่การขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ และจะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษกับมีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยดังกล่าวหมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ ฉะนั้น หากมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินการกระบวนพิจารณาย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ไม่อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ได้ นับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ยื่นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 และ 246
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายและให้โอนกรรมสิทธิ์กลับคืนเป็นของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์โดยปลอดการจำนอง และรับชำระราคาที่ยังค้างอยู่อีก 170,000 บาท จากโจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ ในการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนและส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมจดทะเบียนเพิกถอนการโอนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และให้หักเงินที่โจทก์ได้วาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ และที่โจทก์ยังค้างชำระเป็นส่วนหนึ่งในการชำระหนี้จำนอง ถ้ายังไม่พอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์พิพาทโดยสุจริต โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์พิพาท หลังจากพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้รับเงินค่าจองจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 37557 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์โดยปลอดจำนอง และรับชำระราคาที่ดินที่ยังค้าง 170,000 บาท จากโจทก์ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและส่งมอบเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้หักเงินที่โจทก์วาง ณ สำนักงานวางทรัพย์และที่จะต้องชำระให้จำเลยเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้จำนอง หากไม่ครบให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3หลังจากสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และตามพฤติการณ์หาได้มีเหตุสุดวิสัยเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 23 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นั้น เห็นว่า ตามสำนวนได้ความว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว นายสมเผ่า บุญคุ้มทนายความจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 25 มกราคม 2537ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น พร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความลงวันที่เดียวกันกับคำร้องระบุจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้แต่งทนายความโดยเสียค่าแต่งทนายความ 80 บาท และมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความ แต่มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3ให้ถูกต้องตามที่จดทะเบียนไว้ ศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความและอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องหลังจากนั้นมีการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 1 ครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์เป็นฉบับเดียวกันภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น โดยนายสมเผ่าทนายความเป็นผู้เรียงอุทธรณ์ พร้อมทั้งยื่นใบแต่งทนายความ 2 ฉบับ ลงวันที่เดียวกันกับอุทธรณ์ ฉบับหนึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งทนายความ โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 ส่วนอีกฉบับหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้แต่งทนายความและลงลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความ ในส่วนของจำเลยที่ 3 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับจำเลยที่ 2 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์และได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นเพียงแต่ใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 3 ฉบับแรกไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 3 ที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่จำเลยที่ 3 ได้แก้ไขข้อบกพร่องโดยยื่นใบแต่งทนายความฉบับใหม่ต่อศาลชั้นต้นพร้อมกับยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นรับใบแต่งทนายความฉบับใหม่ไว้แล้ว คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันจำเลยที่ 3 มาแต่เริ่มแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่จำเป็นต้องสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 อีก ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาก่อน แต่การขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ และจะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษกับมีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย เหตุสุดวิสัยดังกล่าวหมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ ฉะนั้นหากมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ได้นับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นสมควรศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ได้การขยายระยะเวลาดังกล่าวจึงชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 23 และ 246 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ที่โจทก์ฎีกาในข้อต่อไปว่า โจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ จากนายสุธี สุธนาพันธ์ และการโอนมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จากนายสุธีและการโอนมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3
ที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์เพียงเท่าที่ปรากฏยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินทาวน์เฮาส์ดังกล่าวโดยไม่สุจริต รู้ถึงข้อความจริงที่โจทก์มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยที่ 3 อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์กลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนให้แก่โจทก์ไม่ได้
พิพากษายืน