คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3796/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเป็นรถยนต์บรรทุกสิบล้อ (รถดั๊ม)ใช้บรรทุกของหนัก โจทก์เป็นเจ้าของรถดั๊มที่ให้เช่าซื้อจึงมีหนี้ที่จะต้องให้จำเลยได้ใช้หรือรับประโยชน์จากรถนั้นเมื่อโดยสภาพรถนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ประกอบมาตรา 537และมาตรา 548 เมื่อรถดั๊มที่ให้จำเลยเช่าซื้อเป็นรถที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนจึงต้องห้ามตามมาตรา 7แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ที่จำเลยอ้างว่า ได้นำรถไปใช้บรรทุกดินแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จึงมีเหตุผลสนับสนุนเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนรถดั๊มที่ให้จำเลยเช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจำเลยจะได้นำรถดั๊มที่เช่าซื้อออกวิ่งได้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่า จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาและต่อมาโจทก์ได้ยึดรถคืนจากจำเลยโดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันโดยปริยาย โดยโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อและผลแห่งการเลิกสัญญาย่อมทำให้คู่ความแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อจำเลยได้คืนรถดั๊มแก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่รับไปแล้วแก่จำเลย ปรากฎว่าจำเลยออกเช็คพิพาท 9 ฉบับผ่อนชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินแก่โจทก์1,315,773 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,236,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้จากการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อ แต่โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามเช็ค จำเลยลงชื่อในเช็คพิพาทโดยไม่ได้กรอกข้อความโจทก์ได้กรอกข้อความในเช็คพิพาทโดยพลการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า รถดั๊มที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อจากโจทก์เป็นรถใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน จำเลยยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ไม่ครบถ้วนรถดั๊มจึงยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ไม่ได้ระบุว่าค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนรถฝ่ายใดต้องรับผิดชอบ นายสนานประหารภาพ อดีตสามีจำเลยเบิกความว่า หลังจากจำเลยรับรถไปแล้วได้จ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและทำสัญญาประกันภัยรถเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท จำเลยได้รับแต่สำเนาประกันรถ นายสินธุ เวศย์วรุตม์ กรรมการโจทก์ไม่ได้เบิกความปฏิเสธในข้อนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรถแล้วจำเลยนำสืบว่าโจทก์ไม่จดทะเบียนรถ จำเลยจึงนำรถไปใช้ประโยชน์ตามความประสงค์ไม่ได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ โจทก์นำสืบโต้เถียงว่า จำเลยรับจะจดทะเบียนรถเองแต่ไม่ติดต่อโจทก์เพื่อขอรับเอกสารไปดำเนินการเห็นว่า มาตรา 10 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนรถ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนา เว้นแต่เจ้าของรถมีความประสงค์จะนำรถไปใช้ในท้องถิ่นอื่น ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องถิ่นนั้นได้”ตามนัยแห่งมาตรานี้แสดงว่าเจ้าของรถมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนรถปรากฏว่าบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล จำกัด เป็นผู้จำหน่ายรถดั๊มทั้ง 5 คันแก่โจทก์ และส่งมอบให้โจทก์แล้ว โจทก์จึงได้ให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อไป จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถซึ่งตามปกติต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถก่อนแล้วจึงโอนทะเบียนเป็นชื่อจำเลยในภายหลังเมื่อรถตกเป็นสิทธิของจำเลยตามใบสั่งขายรถดั๊มทั้ง 5 คัน ของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครปฐม ในช่องจดทะเบียนรถระบุว่า “จังหวัดนครปฐม”ประเภทรถบรรทุกส่วนบุคคลกระบะดั๊มซึ่งเป็นท้องที่ที่โจทก์มีภูมิลำเนาส่วนจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานครและได้นำรถไปใช้ที่จังหวัดชุมพร หากมีข้อตกลงให้จำเลยไปจดทะเบียนรถเองโดยโจทก์มอบอำนาจในใบสั่งขายดังกล่าวก็น่าจะระบุว่าจดทะเบียนที่กรุงเทพมหานครหรือที่จังหวัดชุมพร เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรถจากจำเลยแล้ว ข้อความในใบสั่งขายที่ระบุในช่องค่าทะเบียนว่า “จดเอง” จึงต้องมีความหมายว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรถจะต้องเป็นผู้จดทะเบียนเองโดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นท้องที่ที่โจทก์มีภูมิลำเนาตามนัยแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นปรากฏว่าในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2534 ภายหลังที่โจทก์ส่งมอบรถดั๊มให้จำเลยแล้วบริษัทเอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล จำกัด ผู้จำหน่ายรถได้ทำเอกสารแจ้งให้นายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ทราบว่าได้จำหน่ายรถดั๊มทั้ง 5 คันไปยังจังหวัดนครปฐม และเอกสารแจ้งให้นายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกจังหวัดนครปฐมจดทะเบียนรถให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นเอกสารที่พนักงานของบริษัทยังไม่ได้ลงชื่อ และบริษัทส่งมาเป็นพยานหลักฐานตามหมายเรียกของจำเลย แสดงว่าเอกสารดังกล่าวยังอยู่ที่บริษัทผู้ผลิตดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยรับจะไปจดทะเบียนรถเองและจำเลยไม่มารับเอกสารจากโจทก์ไปดำเนินการจึงไม่อาจรับฟังได้แต่ระหว่างเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม 2534 โจทก์ได้นำเช็คชำระค่าเช่าซื้อทั้ง 9 ฉบับ ซึ่งถึงกำหนดชำระเงินแล้วไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาโจทก์จึงได้ยึดรถดั๊มทั้ง 5 คันกลับคืน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจะถือว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ศาลฎีกาเห็นว่าทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเป็นรถยนต์บรรทุกสิบล้อ (รถดั๊ม) ใช้บรรทุกเทของหนัก โจทก์เป็นเจ้าของรถดั๊มที่ให้เช่าซื้อจึงมีหนี้ที่จะต้องให้จำเลยได้ใช้หรือรับประโยชน์จากรถนั้นเมื่อโดยสภาพรถนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ประกอบมาตรา 537 และมาตรา 548 เมื่อรถดั้มที่ให้จำเลยเช่าซื้อเป็นรถที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนจึงต้องห้ามตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ที่จำเลยอ้างว่า ได้นำรถไปใช้บรรทุกดินที่จังหวัดชุมพรแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จึงมีเหตุผลสนับสนุน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียน รถดั๊มที่ให้จำเลยเช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจำเลยจะได้นำรถดั๊มทั้ง 5 คัน ที่เช่าซื้อออกวิ่งได้ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่า จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาและต่อมาโจทก์ได้ยึดรถคืนจากจำเลยโดยจำเลยไม่ได้แย้งจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันโดยปริยาย โดยโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อและผลแห่งการเลิกสัญญาย่อมทำให้คู่ความแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 กล่าวคือ จำเลยได้คืนรถดั๊มทั้ง 5 คัน แก่โจทก์แล้วและโจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่รับไปแล้วแก่จำเลย จำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าแก่โจทก์เมื่อเช็คพิพาทขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลย ส่วนที่เป็นการยอมให้ใช้รถดั๊ม ทั้ง 5 คัน นั้นซึ่งจำเลยต้องใช้เงินตามมูลค่าแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม ไม่มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เพราะโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share