แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยได้กระทำการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และฟ้องบังคับจำเลยไม่ให้กระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วยแต่อย่างใด ฉะนั้น ที่โจทก์มีคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินยกเลิกการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย และออกโฉนดให้แก่โจทก์จึงเป็นคำขอที่บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีคำขอของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) เป็นเรื่องคำพิพากษาที่วินิจฉัยข้อกรรมสิทธิ์เป็นคุณแก่โจทก์สามารถใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้หาใช่เป็นเรื่องบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการหรือไม่กระทำการแต่อย่างใดไม่ ปัญหาว่าศาลไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะเป็นการบังคับบุคคลภายนอก และมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 เป็นเรื่องที่มีกรณีโต้แย้งสิทธิกันเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดิน และไม่อาจตกลงกันได้ในชั้นเจ้าพนักงานที่ดิน และต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องรอเรื่องไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วจึงให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการต่อไป หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วมีคำขอให้บังคับแก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินมาด้วยดังเช่นกรณีของโจทก์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินส.ค.1 เลขที่ 115 และเลขที่ 310 โดยนางพุฒ ผู้เป็นยายยกให้นางพุฒ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2508 โจทก์ได้ทำนาและปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนายึดถือเพื่อตนเอง โดยไม่มีผู้ใดแย่งการครอบครองต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2522 จำเลยได้นำช่างไปทำการรังวัดที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ ความจริงจำเลยได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่ปี 2501 จนถึงวันฟ้องไม่ได้สึกจากสมณเพศจึงเป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 โจทก์ได้คัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินในวันนั้นเอง ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยโจทก์ไม่พอใจ เจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 60 วันตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 60 การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยเพราะจำเลยให้ถ้อยคำเท็จ คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยจึงไม่ชอบขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรียกเลิกคำสั่งที่ให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสมณศักดิ์เป็นพระครู ก่อนอุปสมบทจนบัดนี้จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 646/2527 คดีหมายเลขแดงที่ 916/2528 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้ นางพุฒิไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์มาขออนุญาตจำเลยอาศัยทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทโจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีมีคำสั่งให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้จำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางอำพัน อาจทรงผู้จัดการมรดกของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดี เพิกถอนโฉนดโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 (2) และประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 60 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าเดิมที่พิพาทเป็นของมารดาจำเลย ต่อมามารดาจำเลยได้ยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นหลานยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการได้มา มารดาของจำเลยก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน เมื่อได้รับยกให้แล้วโจทก์ได้ครอบครองในฐานะเจ้าของตลอดมา จำเลยอ้างว่าเป็นทายาทได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยเป็นพระภิกษุไม่เคยสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมภายในกำหนดอายุความมรดก จำเลยจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก และไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดในที่พิพาทดังกล่าวได้เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยได้กระทำการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และฟ้องบังคับจำเลยไม่ให้กระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีเป็นจำเลยด้วยแต่อย่างใด ที่มีข้อความอ้างถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีด้วยก็เป็นเรื่องเท้าความเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีออกโฉนดที่ดินเพราะเหตุที่จำเลยให้ถ้อยคำที่เป็นเท็จ ฉะนั้น ที่โจทก์มีคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรียกเลิกการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย และออกโฉนดให้แก่โจทก์จึงเป็นคำขอที่บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดี คำขอของโจทก์จึงไม่ชอบและไม่อาจบังคับได้ที่จำเลยอ้างว่าเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่อาจจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 (2) นั้นเห็นว่า เป็นเรื่องคำพิพากษาที่วินิจฉัยกรรมสิทธิ์ เป็นคุณแก่โจทก์ สามารถใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ หาใช่เป็นเรื่องบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการหรือไม่กระทำการแต่อย่างใดไม่ และตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 นั้นก็เป็นเรื่องที่มีกรณีโต้แย้งสิทธิก้นเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและไม่อาจตกลงกันได้ในชั้นเจ้าพนักงานที่ดิน และต้องฟ้องกันต่อศาล เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องรอเรื่องไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการต่อไป หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วมีคำขอให้บังคับแก่เจ้าพนักงานที่ดิน โดยไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินมาด้วยดังเช่นกรณีของโจทก์ไม่และที่โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่าตามฟ้องของโจทก์ไม่เกี่ยวกับปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)นั้น เห็นว่าปัญหาว่าศาลไม่อาจบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะเป็นการบังคับบุคคลภายนอกและมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดี เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง
พิพากษายืน