แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจที่จะต้องเป็นที่เชื่อถือของประชาชนทั่วไป การที่โจทก์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาโอนเงินจำเลยไปยังบัญชีต่าง ๆ ทั้งในสาขาเดียวกับและต่างสาขาย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าขณะที่มีการโอนเงินของจำเลยไปยังบัญชีทั้งหลายเหล่านั้น ตัวเงินย่อมจะต้องถูกหักจากจำเลยไปแล้ว และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการสาขาซึ่งไม่มีอำนาจทำได้ ส่วนการที่ฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายการพนักงานของจำเลยมีความเห็นว่าการโอนเงินไปก่อนแล้วค่อยรวมยอดตัดจากบัญชีของบิดาโจทก์คราวเดียวในตอนเย็นของวันเดียวกัน แม้จะไม่ถูกต้องตามระเบียบแต่ก็ไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเพียงความเห็นที่คำนึงเฉพาะด้านตัวเงินหรือดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้สูญหาย แต่โดยทั่วไปแล้วย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายในด้านความเชื่อถือของประชาชนเพราะอาจมีกรณีเงินบัญชีของบิดาโจทก์ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้คืนจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าการโอนเงินจากบัญชีของบิดาโจทก์ไปยังบัญชีต่าง ๆ อย่างถูกต้องนั้นมีเหตุขัดข้องหรือไม่สะดวกอย่างไร ประกอบกับการที่จำเลยประกอบธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ระเบียบข้อบังคับที่ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับเงินในธนาคารจะต้องถือว่ามีส่วนสำคัญมากเพื่อให้ธุรกิจของจำเลยมีความมั่นคงเป็นที่เชื่อถือได้ การกระทำที่ผิดระเบียบของโจทก์เช่นนี้ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการที่ถูกจำเลยมีคำสั่งปลดออกจากงาน และเป็นกรณีที่เข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด 3ว่าด้วยเงินบำเหน็จพิเศษ กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยสำหรับผู้ที่ทำงานมาครบ 10 ปี ตามอัตราเงินเดือนที่กำหนดไว้ในข้อ 1แต่ในข้อ 2 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวจะจ่ายให้เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นออกจากงาน เว้นแต่กรณีออกจากงานเพราะกระทำความผิดตามภาค 2 หมวด 3ข้อ 3(1) หรือ (2) หรือ (3) ซึ่งหมายถึงการออกจากงานเพราะจำเลยมีคำสั่งไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จพิเศษ ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้ในภาค 3 หมวด 2ข้อ 2.7 วรรคสอง ว่า “ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการดังนี้2.7.2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ทุกทอดของเงินสมทบให้แก่สมาชิก เว้นแต่ 2.7.2.1 สมาชิกที่ถูกลงโทษทางวินัยโดยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกโดยธนาคารมีคำสั่งงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น” ดังนั้นโจทก์ถูกจำเลยมีคำสั่งให้ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสมทบที่จำเลยนำเข้าบัญชีเงินกองทุนให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิได้รับเฉพาะส่วนที่โจทก์จ่ายในฐานะที่เป็นสมาชิก แต่แม้จำเลยได้ออกเอกสารซึ่งได้แยกให้เห็นว่าเงินส่วนหักจากพนักงานและเงินส่วนสมทบโดยจำเลยไว้ชัดแจ้ง เมื่อปรากฏว่าในส่วนเงินที่หักจากพนักงานนั้นโจทก์ได้รับแล้ว และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนสมทบนี้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2518เป็นต้นมา จำเลยกล่าวหาโจทก์ว่าโจทก์เป็นเจ้ามือเล่นการพนันฟุตบอลและอาศัยตำแหน่งหน้าที่ใช้เงินของจำเลยเป็นเครื่องมือชำระหนี้การพนันด้วยการสั่งให้เบิกเงินหรือโอนเงินของจำเลยชำระหนี้การพนันไปก่อน ซึ่งไม่เป็นความจริง คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยทำให้โจทก์ไม่ได้รับชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าบำเหน็จจากการทำงาน เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่ ธ. 1022/2537 และรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งงานเดิมหรือตำแหน่งงานซึ่งเทียบเท่าหรือไม่ต่ำกว่าเดิมของโจทก์ หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยต้องเพิกถอนข้อกล่าวหาว่าโจทก์เล่นการพนันโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ใช้เงินของจำเลยเป็นเครื่องมือชำระหนี้การพนันไปก่อน อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา ออกจากคำสั่งที่ ธ. 1022/2537 ให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ให้โจทก์ได้รับเงินบำเหน็จออกจากการทำงานจำนวน 50,000 บาท และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 409,451.31 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท กับให้ชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 227,815 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยมีคำสั่งที่ ธ. 1022/2537เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกล่าวคือในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาถนนจันทน์โจทก์เป็นเจ้ามือเล่นการพนันฟุตบอลอันเป็นความผิดอาญา และอาศัยตำแหน่งหน้าที่ใช้เงินของจำเลยเป็นเครื่องมือชำระหนี้การพนันด้วยการสั่งให้เบิกเงินหรือโอนเงินของจำเลยชำระหนี้การพนันไปก่อนอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ผิดวินัยพนักงานอย่างร้ายแรง ตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานภาค 2 หมวด 3 ข้อ 4.1 การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยขาดความเชื่อถือและความไว้วางใจจากลูกค้า คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือเพิกถอนข้อกล่าวหาของจำเลยที่มีต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จำเลยระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งที่ ธ. 1022/2537 ตามเอกสารหมาย ล.22อยู่ 2 ประการ ประการแรก ขณะที่โจทก์เป็นผู้จัดการสาขาถนนจันทน์ได้เป็นเจ้ามือเล่นการพนันฟุตบอลอันเป็นความผิดอาญา ประการที่สองโจทก์อาศัยตำแหน่งหน้าที่ใช้เงินของจำเลยเป็นเครื่องมือชำระหนี้การพนันด้วยการสั่งให้เบิกเงินหรือโอนเงินของจำเลยชำระหนี้การพนันไปก่อนอันเป็นการแสดงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายปัญหาข้อแรกข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์เล่นการพนันและเป็นเจ้ามือการพนันฟุตบอลตามข้อกล่าวหาของจำเลย ส่วนปัญหาข้อหลังได้ความเพียงว่า บัญชีเอ็นแอนด์เจเป็นบิดาของโจทก์ที่เงินการพนันฟุตบอลเคยผ่านบัญชี ในการโอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจดังกล่าวไปยังบัญชีต่างสาขาต่าง ๆ หรือในสาขาเดียวกันรวม 13 บัญชีโจทก์สั่งให้นางธาริณี จิรภิญโญ ผู้ดูแลการโอนเงินระหว่างสาขาโอนเงินของจำเลยไปยังบัญชีต่าง ๆ ก่อนแล้วมาถอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจใช้คืนให้จำเลยในเวลาเลิกงานในวันเดียวกันซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบ แต่เมื่อโจทก์มิได้เล่นการพนันหรือเป็นเจ้ามือการพนันฟุตบอลโดยอาศัยบัญชีเอ็นแอนด์เจ การที่โจทก์สั่งให้โอนเงินและต่อมาถอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจใช้คืนดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการโอนเงินของจำเลยชำระหนี้การพนันไปก่อนตามข้อกล่าวหาของจำเลย แม้กรณีโจทก์สั่งโอนเงินไปก่อนโดยยังมิได้มีการถอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบของจำเลย แต่การกระทำดังกล่าวฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายการพนันงานมีความเห็นว่าไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่เลิกจ้างโจทก์ของจำเลยตามคำสั่งที่ ธ. 1022/2537 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือเทียบเท่าหรือไม่ต่ำกว่าเดิมในอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าก่อนถูกเลิกจ้างโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องด้วย ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่าในการโอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจไปยังบัญชีต่างสาขาต่าง ๆ หรือในสาขาเดียวกันรวม 13 บัญชี โจทก์สั่งให้นางธาริณีผู้ควบคุมดูแลการโอนเงินระหว่างสาขาโอนเงินของจำเลยไปก่อนแล้วจึงถอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจใช้คืนให้จำเลยในเวลาเลิกงานวันเดียวกัน เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงเหตุผลได้ในตัวว่าโจทก์อาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาให้กระทำการผิดระเบียบ เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยสุจริตทำให้จำเลยเสียหายกรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้วนั้นเห็นว่า จำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจที่จะต้องเป็นที่เชื่อถือของประชาชนทั่วไป การที่โจทก์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาโอนเงินจำเลยไปยังบัญชีต่าง ๆ ทั้งในสาขาเดียวกันและต่างสาขาย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าขณะที่มีการโอนเงินของจำเลยไปยังบัญชีทั้งหลายเหล่านั้น ตัวเงินย่อมจะต้องถูกหักจากจำเลยไปแล้วการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าเพื่อความสะดวกก็ไม่อาจรับฟังได้เพราะเงินที่โอนไปมิใช่เงินของโจทก์แต่เป็นเงินของจำเลยการกระทำของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการสาขาซึ่งไม่มีอำนาจทำได้ การที่ฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายการพนักงานของจำเลยมีความเห็นว่าการโอนเงินไปก่อนแล้วค่อยรวมยอดตัดจากบัญชีเอ็นแอนด์เจคราวเดียวในตอนเย็นของวันเดียวกัน แม้จะไม่ถูกต้องตามระเบียบแต่ก็ไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้นเป็นความเห็นที่คำนึงเฉพาะด้านตัวเงินหรือดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้สูญหาย แต่โดยทั่วไปแล้วย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายในด้านความเชื่อถือของประชาชนเพราะอาจมีกรณีเงินบัญชีเอ็นแอนด์เจไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้คืนจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าการโอนเงินจากบัญชีเอ็นแอนด์เจไปยังบัญชีต่าง ๆ อย่างถูกต้องนั้นมีเหตุขัดข้องหรือไม่สะดวกอย่างไรโจทก์จึงต้องอาศัยโอกาสที่มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติผิดระเบียบเช่นนั้นประกอบกับการที่จำเลยประกอบธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ระเบียบข้อบังคับที่ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับเงินในธนาคารจะต้องถือว่ามีส่วนสำคัญมากเพื่อให้ธุรกิจของจำเลยมีความมั่นคงเป็นที่เชื่อถือได้ การกระทำที่ผิดระเบียบเช่นนี้ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการที่ถูกจำเลยมีคำสั่งปลดออกจากงาน เป็นกรณีที่เข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ และกรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังที่กล่าวมาแล้วนี้
ส่วนปัญหาเรื่องเงินบำเหน็จพิเศษและเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเนื่องจากคู่ความนำสืบมาแล้วตามเอกสารหมาย ล.16 และ จ.4ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่เป็นเรื่องการตีความระเบียบดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.16 ซึ่งในหมวด 3 ว่าด้วยเงินบำเหน็จพิเศษกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยสำหรับผู้ที่ทำงานมาครบ 10 ปี ตามอัตราเงินเดือนที่กำหนดไว้ในข้อ 1 แต่ในข้อ 2 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวจะจ่ายให้เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นออกจากงาน เว้นแต่กรณีออกจากงานเพราะกระทำความผิดตามภาค 2หมวด 3 ข้อ 3(1) หรือ (2) หรือ (3) ซึ่งหมายถึงการออกจากงานเพราะจำเลยมีคำสั่งไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จพิเศษส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.16 กำหนดไว้ในภาค 3 หมวด 2ข้อ 2.7 วรรคสองว่า “ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการดังนี้2.7.2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ทุกทอดของเงินสมทบให้แก่สมาชิกเว้นแต่ 2.7.2.1 สมาชิกที่ถูกลงโทษทางวินัยโดยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกโดยธนาคารมีคำสั่งงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น”ดังนั้นเมื่อโจทก์ถูกจำเลยมีคำสั่งให้ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสมทบที่จำเลยนำเข้าบัญชีเงินกองทุนให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิได้รับเฉพาะส่วนที่โจทก์จ่ายในฐานะที่เป็นสมาชิก แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยได้ออกเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งได้แยกให้เห็นว่าเงินส่วนหักออกจากพนักงานและเงินส่วนสมทบโดยจำเลยไว้ชัดแจ้งเมื่อปรากฏว่าในส่วนเงินที่หักจากพนักงานนั้น โจทก์ได้รับแล้วและจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนสมทบ
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง