คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการลาของผู้ร้อง และมาตรา 102 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่บัญญัติไว้ใจความว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปเพื่อดำเนินกิจการ สหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา… และมีสิทธิลา เพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้าง ดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามีและให้ถือว่าวันลาของ ลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน” มีความหมายว่า ลูกจ้าง ซึ่งเป็นกรรมการ สหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ โดยลูกจ้างเพียงแต่แจ้งพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้นายจ้าง ทราบล่วงหน้าถึงเหตุการลา และไม่จำต้องให้นายจ้างอนุมัติก่อนเมื่อผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นเหรัญญิกของสหภาพแรงงาน ได้รับเชิญ ในตำแหน่งเหรัญญิกของสหภาพแรงงานให้ไปประชุมของส่วนราชการและสหภาพแรงงานได้แจ้งการลาให้ผู้ร้องทราบแล้ว แม้ผู้ร้องมิได้อนุมัติก่อนก็ถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของผู้ร้องและชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายบุญยัง วงษ์แสง ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านได้กระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยเมื่อวันที่ 2 และ 4 ตุลาคม 2534 เวลา8 ถึง 17 นาฬิกา ผู้คัดค้านขอลาไปทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานโดยไม่เป็นความจริง ไม่สุจริตแจ้งเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ขาดงาน และละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเคยถูกลงโทษมาก่อนแล้ว การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการลาและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ขอให้ศาลอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านโดยการเลิกจ้าง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำผิดตามคำร้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2534 ผู้คัดค้านได้แจ้งการลาเพื่อไปดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานต่อฝ่ายจัดการของผู้ร้อง โดยขอลาในวันที่2 ถึง 4 ตุลาคม 2534 ตั้งแต่เวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา ทั้งสามวันผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านและมิได้แจ้งกลับมายังสหภาพแรงงาน เมื่อถึงกำหนดผู้คัดค้านก็ไปประชุมสัมมนา คำร้องเคลือบคลุม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิลาไปประชุมในกิจการของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 50.3และตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518โดยเพียงแต่ลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบถึงเหตุการลาล่วงหน้า การลาก็มีผลแล้ว ไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำผิดตามคำร้อง ไม่มีเหตุให้ผู้ร้องเลิกจ้าง ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านลาไปประชุมวันที่ 2 ตุลาคม 2534 ซึ่งผู้ร้องไม่อนุมัติแต่ผู้คัดค้านได้ไปประชุมในวันดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้าง ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลา ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 102 นั้น เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการลาของผู้ร้อง ข้อ 50.3 และมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 บัญญัติไว้ใจความทำนองเดียวกันว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาไปเพื่อดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา… และมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน” ซึ่งข้อบังคับและบทกฎหมายดังกล่าวมีความหมายว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน มีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ โดยลูกจ้างเพียงแต่แจ้งพร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุการลาเท่านั้นไม่จำต้องให้นายจ้างอนุมัติก่อนแต่อย่างใด มิฉะนั้นแล้วบทบัญญัติดังกล่าวจะไร้ผลบังคับ หากให้เป็นไปตามอำเภอใจของนายจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างและเป็นเหรัญญิกของสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์แก้วแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้านได้รับเชิญในตำแหน่งเหรัญญิกของสหภาพแรงงานให้ไปประชุมตามเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งเป็นการประชุมของส่วนราชการ และสหภาพแรงงานดังกล่าวได้แจ้งการลาไปประชุมให้ผู้ร้องได้รับทราบตามเอกสารดังกล่าวแล้วการที่ผู้คัดค้านได้ไปประชุมในวันดังกล่าวโดยแม้ผู้ร้องจะมิได้อนุมัติก่อนก็ตามก็ถือว่าผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของผู้ร้อง และชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว ทั้งไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share