คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างต้องจ่ายดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ ตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 กำหนดไว้ มิใช่จ่ายร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน105,600 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 99,000 บาท และโบนัสเป็นเงิน16,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน105,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ15 ต่อปี ไม่ถูกต้องเพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ซึ่งโจทก์คงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เท่านั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างซึ่งการที่จำเลยผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 31ที่ออกโดย อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และ ข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 กำหนดเรื่องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้โดยเฉพาะว่า “ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง … ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี”ดังนั้น จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 มาอ้างเพื่อจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีหาได้ไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share