คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน การพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต้องถือตามทุนทรัพย์แต่ละสำนวนเมื่อทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยและผู้ร้องสอดไม่เกินสำนวนละ 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกนายเสกสรร เสนาน้อย เป็นจำเลยที่ 1 นางนิตยา เสนาน้อยเป็นจำเลยที่ 2 นายกระแสร์ สร้างหลัก เป็นจำเลยที่ 3นางชุกเจ็ง แซ่กี้ เป็นจำเลยที่ 4 และนายจเร มณีศรีเป็นจำเลยที่ 5
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยทั้งห้าและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 15,000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 7,000 บาท และจำเลยที่ 5 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทแต่เดิมเป็นของนายห้องหรือฮ่อง สร้างหลักบิดานางพิน แซ่ตันหรือยุพิน สร้างหลัก และจำเลยที่ 3 หลังจากที่นายห้องตายแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาทของนายห้อง นายห้องมีบุตร 3 คน หลังจากนายห้องตายแล้ว นางยุพินได้นำที่ดินไปขายให้แก่โจทก์โดยปกปิดไม่ให้ทายาทอื่นทราบ แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมาจำเลยที่ 3และทายาทของนายห้องคนอื่นไม่เคยทราบว่านางยุพินนำที่ดินไปขายให้แก่โจทก์สัญญาซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2492ตามเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า นางยุพินได้รับมรดกมาจากนายห้องบิดา โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3หรือทายาทอื่น ๆ ของนายห้องที่มีสิทธิได้รับมรดกได้ยินยอมหรือสละมรดกให้นางยุพินขายที่ดินแก่โจทก์ สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงผูกพันระหว่างโจทก์กับนางยุพินเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกที่นางยุพินมีสิทธิได้รับแต่ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3กับทายาทอื่น ที่ดินดังกล่าวต้องแบ่งปันให้บุตรของนายห้องคนละ3 ไร่เศษ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของจำเลยที่ 3 ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในฐานะเป็นภรรยาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 เข้าไปในที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เข้าไปปรับพื้นที่ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 สูงเกินไป ที่ดินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ครอบครองหากนำให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทที่ดินที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ครอบครอง หากนำให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 500 บาท เนื่องจากอยู่ห่างไกลความเจริญจำเลยที่ 3 และที่ 4 ครอบครองที่ดินมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดทั้งห้าร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นบุตรของนายสหะ สร้างหลัก ซึ่งเป็นบุตรของนายห้องคนหนึ่ง ผู้ร้องสอดที่ 5 เป็นภรรยาของนายสหะ นายสหะถึงแก่ความตายหลังจากที่นายห้องถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของนายสหะที่จะตกทอดมายังผู้ร้องสอดทั้งห้าขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสหะที่ตกทอดมาเป็นของผู้ร้องสอดทั้งห้า3 ไร่เศษ ตามแผนที่พิพาทบริเวณพื้นที่สีแดงเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดทั้งห้าไม่ใช่ทายาทของนายสหะไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสหะ คดีของผู้ร้องสอดทั้งห้าขาดอายุความเนื่องจากไม่ฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากนางยุพินนับแต่นางยุพินขายที่ดินให้แก่โจทก์เกินกว่า 1 ปี ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 11 ไร่เศษหนึ่งในสามส่วนเป็นทรัพย์มรดกของนายสหะ สร้างหลักซึ่งตกเป็นของผู้ร้องทั้งห้าคนละหนึ่งส่วน ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเฉพาะปัญหาว่า จำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ และจะต้องรับผิดเพียงใดแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งห้าและผู้ร้องสอดทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งห้าและผู้ร้องสอดทั้งห้าว่า โจทก์ได้ซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงหรือไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายห้อง สร้างหลัก เมื่อนายห้องถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่นางยุพินแซ่ตัน หรือสร้างหลัก นายสหะ สร้างหลักและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทต่อมานางยุพินได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยได้รับความยินยอมจากนายสหะและจำเลยที่ 3หลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว นางยุพิน นายสหะและจำเลยที่ 3 ได้ขอเข้าไปเก็บกินผลอาสินในที่ดินพิพาท การที่นายสหะและจำเลยที่ 3 เข้าไปเก็บกินผลอาสินและครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการยึดถือครอบครองไว้แทนโจทก์ โจทก์ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลง จำเลยทั้งห้าสอดและผู้ร้องทั้งห้าฎีกาว่านายสหะและจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้เห็นและยินยอมให้นางยุพินทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นายสหะครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะที่เป็นเจ้าของ ไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ จึงเป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริง คดีโจทก์ทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันการพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกานั้นถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละสำนวน เมื่อทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยทั้งห้าและผู้ร้องสอดทั้งห้าไม่เกินสำนวนละ200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งห้าและผู้ร้องสอดทั้งห้าจึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งห้าและผู้ร้องสอดทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยทั้งห้าผู้ร้องสอดทั้งห้า ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share