คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4)ข และ (5) เป็นแต่เพียงเหตุบางประการที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้นมาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลายไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้น ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง จำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน 174,733.68 บาท และมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย แต่ก็ปรากฏว่ามูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลในทางแพ่งนั้นเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2519 ซึ่งมียอดหนี้ที่จำเลยกับพวกรวม4 คน จะต้องรับผิดเพียง 46,262.43 บาท เท่านั้นแต่โจทก์ก็ไม่ขวยขวายดำเนินการฟ้อง จำเลยกับพวกคงปล่อยปละละเลยนานเกือบ 10 ปี จึงได้มีการฟ้องให้จำเลยรับผิด เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม2529 โจทก์ก็มิได้ดำเนินการสืบหาเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยกับพวกแต่อย่างใด รอจนกระทั่งปี 2538 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายพฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี 2529 ทำให้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง 174,733.68 บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยอื่น มิได้กระทำต่อจำเลยนี้โดยตรง ผู้ที่ทำรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินดังกล่าว โจทก์ก็มิได้นำตัวมาสืบสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่า ไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึดอันถือได้ว่าจำเลยตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ศาลต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสุทธิพงษ์ ตรีกลาง เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนเดิมโจทก์ใช้ชื่อว่าธนาคารสยาม จำกัด ได้ฟ้องจำเลยกับพวกรวม 4 คนต่อศาลแพ่งธนบุรีให้ร่วมกันรับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและค้ำประกัน ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันใช้เงิน 46,262.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2519 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ นับแต่ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาจำเลยกับพวกไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 174,733.68 บาท ต่อมาโจทก์ขอให้ศาลแพ่งธนบุรีออกหมายบังคับคดีและสืบหาทรัพย์สินของจำเลยปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ทั้งได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 6376/2529คิดถึงวันฟ้องคดีนี้ จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 174,733.68 บาท คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบคงปรากฏแต่เพียงนายสุทธิพงษ์ ตรีกลาง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความว่า ภายหลังศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยกับพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ขอให้ศาลแพ่งธนบุรีออกหมายบังคับคดีแก่จำเลย ต่อมาได้ให้พนักงานของโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะพึงยึดมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้และจำเลยได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ โจทก์ถือว่าพฤติการณ์เช่นนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้นพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นประกอบที่พอแสดงให้เห็นว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้น ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะของบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรงเมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้ว แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคดีนี้รวมเป็นเงิน174,733.68 บาท และมีพฤติการณ์เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่ามูลคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีนั้น เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2519 ซึ่งมียอดหนี้ที่จำเลยกับพวกรวม 4 คน จะต้องรับผิดเพียง 46,262.43 บาท เท่านั้นแต่โจทก์ก็ไม่ขวนขวายดำเนินการฟ้องจำเลยกับพวกคงปล่อยปละละเลยนานเกือบ 10 ปี จึงได้มีการฟ้องทางแพ่งให้จำเลยรับผิด เมื่อศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2529 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3โจทก์ก็มิได้ดำเนินการสืบหาเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยกับพวกแต่อย่างใดรอจนกระทั่งปี 2538 จึงได้นำคดีมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายพฤติการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยเรื่อยมานับแต่ปี2529 ทำให้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนถึง 174,733.68 บาท อีกทั้งการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลนั้น กลับได้ความว่าเป็นการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยอื่น มิได้กระทำต่อจำเลยนี้โดยตรง ผู้ที่ทำรายงานผลการสืบหาทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.5ดังกล่าว โจทก์ก็มิได้นำตัวมาสืบสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่า ไม่มีทรัพย์สินอันจะพึงให้ยึด อันถือได้ว่าจำเลยตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใด รูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
พิพากษายืน

Share