คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วยโดยโจทก์ซื้อสิทธิในกิจการเหมืองแร่และสิทธิในการ ครอบครองที่ดินจากบริษัท ซ. และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองมาโดยตลอด ตามคำฟ้องโจทก์นอกจากจะกล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการทำเหมืองแร่โดยรับโอนสิทธิตาม ประทานบัตรแล้ว ยังได้กล่าวอ้างมาด้วยว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อหรือรับโอนมาจากเจ้าของที่ดินเดิม อีกด้วย สิทธิตามประทานบัตรซึ่งเป็นสิทธิในการทำเหมืองแร่นั้น เป็นสิทธิที่จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งต้องบังคับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหาก จากกันได้ หาใช่ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้ว จะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้เลยไม่ มิฉะนั้นจะมีผลเป็นว่า ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใด โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แต่เดิมแล้ว หากต่อมาได้รับอนุญาต ให้ทำเหมืองแร่ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้สิทธิครอบครอง ซึ่งมีอยู่แต่เดิมก่อนแล้วต้องหมดสิ้นไปด้วย โจทก์จึงสามารถ มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในเขต ประทานบัตรการทำเหมืองแร่ได้ โจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำเหมืองแร่และปลูกต้นไม้ในที่ดิน ที่พิพาทมาโดยตลอดแม้เจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งแก่นายอำเภอ ให้ทราบว่า เจ้าของที่ดินเดิมแต่ละคนที่ยื่นแบบแจ้งการ ครอบครองไว้แล้ว ได้โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ละราย ให้แก่ผู้อื่นไป ซึ่งหากจะถือว่าข้อความดังกล่าวเป็นการ สละสิทธิครอบครองก็เป็นการสละสิทธิครอบครอง เพราะได้ โอนสิทธิครอบครองของตนไปให้บุคคลอื่นโดยผู้โอนมิได้ยึดถือ ครอบครองเพื่อตนเองอีกต่อไป หาใช่ว่าเป็นการสละสิทธิ ครอบครองอันจะมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวกลับกลายสภาพเป็น ที่รกร้างว่างเปล่าแต่อย่างใดไม่ ทั้งการที่เจ้าของที่ดินเหล่านี้สละสิทธิครอบครองในที่ดินของตนก็เพื่อโอนให้บริษัท อ. เพื่อนำไปขอประทานบัตร ที่ดินพิพาทและบริเวณที่ดินตามประทานบัตรของโจทก์ซึ่งรับโอนมาจากบริษัท ซ.ผู้รับโอนมาจากบริษัทอ. อีกต่อหนึ่งจึงมิใช่ที่ว่างเปล่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510และเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ ซึ่งรับโอนมาทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิตามประทานบัตรจากบริษัท ซ.และโจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา โจทก์จึงเป็น ผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แม้ประทานบัตรของโจทก์จะหมดอายุไปแล้ว ก็หามีผลทำให้โจทก์ สิ้นสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยซื้อสิทธิครอบครองและสิทธิผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาจากบริษัทไซมิสตินซินดิเกต จำกัดและผู้มีชื่อหลายคนโดยเสียค่าตอบแทนมาตั้งแต่ปี 2514จนถึงปัจจุบัน โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินโดยการปลูกต้นไม้ยืนต้นต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 จำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ต่อช่างแผนที่ผู้รังวัดว่าโจทก์ได้นำช่างแผนที่รังวัดทับที่ดินของจำเลยทั้งสองที่ครอบครองทำประโยชน์และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันลักลอบเข้าเดิน ขุดดินและตักทรายในที่ดินของโจทก์เป็นครั้งคราว อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวเนื่องจากบริษัทไซมิสตินซินดิเกต จำกัด รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ต่อมาประทานบัตรดังกล่าวหมดอายุลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองและสิทธิผลประโยชน์ทั้งหมดในที่ดินและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน คนละประมาณ 5 ไร่เพื่อตนตลอดมาตั้งแต่ปี 2530 โดยการปลูกต้นไม้ยืนต้นและพืชล้มลุกพร้อมทั้งเลี้ยงสัตว์ ส่วนจำเลยที่ 1 ปลูกบ้าน 1 หลัง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งหมดโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินกรรมสิทธิ์และผลประโยชน์ทั้งหมดจากบริษัทไซมิสตินซินดิเกต จำกัดต่อมาโจทก์ยื่นขอออกประทานบัตรและขอต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ตามสารบบประทานบัตรทำเหมืองแร่ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระนองทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งศาลในคดีอื่นจำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัด
คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์สามารถมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรการทำเหมืองแร่ได้หรือไม่ ในคดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย โดยโจทก์ซื้อสิทธิครอบครองและสิทธิประโยชน์ทั้งหมด กล่าวคือ สิทธิในกิจการเหมืองแร่และสิทธิในการครอบครองที่ดินจากบริษัทไซมิสตินซินดิเกต จำกัด และผู้มีชื่อคนอื่น ๆ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด ทั้งโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองมาโดยตลอด โดยได้สำรวจแร่และดำเนินกิจการเหมืองแร่ตามประทานบัตรและโจทก์ได้ทำสวนเกษตรโดยปลูกพืชผลต่าง ๆ ในที่ดินที่โจทก์ครอบครองทั้งหมดด้วยตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกล่าวอ้าง โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการทำเหมืองแร่โดยรับโอนสิทธิตามประทานบัตรแล้ว ยังได้กล่าวอ้างมาด้วยว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อหรือรับโอนมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอีกด้วย เห็นว่า สิทธิตามประทานบัตรซึ่งเป็นสิทธิในการทำเหมืองแร่นั้นเป็นสิทธิที่จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้หาใช่ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้วจะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้เลยไม่ มิฉะนั้นจะมีผลเป็นว่าผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใดโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แต่เดิมแล้วหากต่อมาได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้สิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่แต่เดิมก่อนแล้วต้องหมดสิ้นไปด้วยฉะนั้น โจทก์จึงสามารถมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรการทำเหมืองแร่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปที่ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่นั้น คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง แม้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว แต่เนื่องจากคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานกันจนเสร็จสิ้นครบถ้วนแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ไปเลย โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน ในข้อนี้เห็นว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้นเบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำเหมืองแร่และปลูกต้นไม้ในที่ดินที่พิพาทมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2514 โดยมีเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งเป็นหลักฐานการซื้อขายที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทมาสนับสนุน แม้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.4ดังกล่าวจะมีข้อความว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งแก่นายอำเภอให้ทราบว่า เจ้าของที่ดินเดิมแต่ละคนที่ยื่นแบบแจ้งการครอบครองไว้แล้วนั้น ได้โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ละรายให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ซึ่งหากจะถือว่าข้อความดังกล่าวเป็นการสละสิทธิครอบครองก็เป็นการสละสิทธิครอบครองเพราะได้โอนสิทธิครอบครองของตนไปให้บุคคลอื่นโดยผู้โอนมิได้ยึดถือครอบครองเพื่อตนเองอีกต่อไปหาใช่ว่าเป็นการสละสิทธิครอบครองอันจะมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวกลับกลายสภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่าแต่อย่างใดไม่ ทั้งจากเอกสารดังกล่าวก็ได้ความชัดแจ้งว่า การที่เจ้าของที่ดินเหล่านี้สละสิทธิครอบครองในที่ดินของตนก็เพื่อโอนให้บริษัทแอลลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด เพื่อนำไปขอประทานบัตรที่ดินพิพาทและบริเวณที่ดินตามประทานบัตรของโจทก์ซึ่งรับโอนมาจากบริษัทไซมิสตินซินดิเกต จำกัด ผู้รับโอนมาจากบริษัทแอลลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด อีกต่อหนึ่ง จึงมิใช่ที่ว่างเปล่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แต่ประการใดแต่กลับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ ซึ่งรับโอนมาทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิตามประทานบัตรจากบริษัทไซมิสตินซินดิเกตจำกัด ซึ่งโจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แม้ประทานบัตรของโจทก์จะหมดอายุแล้วก็หามีผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสิทธิคนละส่วนกันแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินพิพาท จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยทั้งสองที่ว่าเข้าจับจองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่านั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท
พิพากษากลับ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป

Share