คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9392/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นตัวแทนขายเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้เสียหายเครื่องละ 100 บาท จำเลยติดต่อนำเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายไปฝากขายที่ร้านค้าของผู้อื่น และมีสิทธิรับเครื่องพิมพ์ดีดนั้นคืนได้ การที่จำเลยรับเครื่องพิมพ์ดีดคืนจำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวโดยชอบ มีสิทธินำไปขายหรือส่งมอบคืนผู้เสียหายได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยนำเครื่องพิมพ์ดีดที่รับคืนมาไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นการเบียดบังเอาเครื่องพิมพ์ดีดนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานยักยอกที่ได้ความตามทางพิจารณาแตกต่างจากความผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ไม่ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานยักยอกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักเอาเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 8 เครื่องราคาเครื่องละ 4,000 บาท รวมราคาทรัพย์ 32,000 บาท ของบริษัทอักษรศาสตร์พิมพ์ดีด จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 32,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 6 เดือน จำเลยนำสืบพยานเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนขายเครื่องพิมพ์ดีดของบริษัทอักษรศาสตร์พิมพ์ดีด จำกัด ผู้เสียหายโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้เสียหายเครื่องละ 100 บาท เมื่อปี 2536 จำเลยติดต่อนำเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหายไปฝากขายที่ห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์จำนวน 50 เครื่อง โดยทยอยส่งไปหลายครั้ง ต่อมาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยรับเครื่องพิมพ์ดีดที่ฝากขายจำนวน 8 เครื่องคืนจากนางจิตราภรณ์ นพคุณ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของห้างดังกล่าวตามใบรับสินค้าคืนเอกสารหมาย จ.13 แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามทางนำสืบของโจทก์จากคำเบิกความของนายเสริม พลอยแดง กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนผู้เสียหายและนางจิตราภรณ์ นพคุณ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นสโตร์ว่า จำเลยนำเครื่องพิมพ์ดีดไปฝากขายที่ห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายโดยนายเสริมติดตามไปตรวจสอบและเก็บเงินค่าเครื่องพิมพ์ดีดที่ขายได้ แต่ในการตอบคำถามของทนายจำเลยนายเสริมเบิกความว่า การติดต่อฝากขายเครื่องพิมพ์ดีดกับห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์นั้น ครั้งแรกจำเลยไปติดต่อเพียงผู้เดียว พยานไม่เคยรู้จักนางจิตราภรณ์ผู้จัดการห้างดังกล่าวมาก่อน นางจินตราภรณ์เบิกความว่า ในการรับฝากขายเครื่องพิมพ์ดีดของผู้เสียหาย พยานติดต่อกับจำเลยเพียงผู้เดียวไม่เคยมีบุคคลอื่นมาติดต่อ ก่อนที่จำเลยจะมาติดต่อพยานไม่เคยรู้จักนายเสริม การฝากขายสินค้าดังกล่าว จำเลยจะมาติดต่อขอรับสินค้าคืนเมื่อใดก็ได้แต่ต้องทำตามระเบียบวิธีการของห้างน้อมจิตติดีพาร์ทเม้นสโตร์ ตามคำเบิกความของพยานดังกล่าวแสดงว่าจำเลยในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายมีสิทธิรับเครื่องพิมพ์ดีดที่จำเลยนำไปฝากขายไว้ที่ห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์คืนได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีการของห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์เท่านั้น ซึ่งการรับเครื่องพิมพ์ดีดจำนวน 8 เครื่องดังกล่าวข้างต้น จำเลยก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีการของห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์แล้วโดยทำใบรับสินค้าคืนตามเอกสารหมาย จ.13 ไว้ให้ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวโดยชอบ มีสิทธินำไปขายหรือส่งมอบคืนผู้เสียหายได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยนำเครื่องพิมพ์ดีดที่รับคืนจากห้างน้อมจิตต์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ส่วนตน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเบียดบังเอาเครื่องพิมพ์ดีดนั้นเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352วรรคหนึ่ง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ถึงแม้ความผิดฐานยักยอกจะแตกต่างจากความผิดฐานหลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ก็ไม่ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญอีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคหนึ่ง ให้ปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่งข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับ4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share