คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7291/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ด.และห. นำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณที่จอดรถที่จำเลยทั้งสองจัดให้มีขึ้นตามที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบอกว่าข้างในมีที่จอด โดยได้ชำระเงินค่าจอดรถให้พนักงานของจำเลยทั้งสอง และได้รับใบรับซึ่งมีข้อความว่าบัตรจอดรถโดย ด.และห. ยังคงเก็บกุญแจรถไว้เองแล้วออกไปจากบริเวณที่จอดรถดังกล่าว ยังไม่พอฟังว่าเป็นการส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสองอันจะทำให้จำเลยทั้งสองอยู่ในฐานะผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จ เมื่อรถยนต์ได้สูญหายไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากนางดวงดาว จันสว่างวงศ์ ในวงเงิน 500,000 บาท ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนายหุ่ย จันสว่างวงศ์ ได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดที่บริเวณรับฝากของจำเลยทั้งสองนางดวงดาวได้ชำระค่ารับฝากรถให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 30 บาท ต่อมาในวันเดียวกันนั้นปรากฏว่ารถคันดังกล่าวสูญหายไป โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 408,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน400,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน408,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซีวิค หมายเลขทะเบียน 8 ช – 3935 กรุงเทพมหานครไว้จากนางดวงดาว จันสว่างวงศ์ ในวงเงิน 500,000 บาทอายุสัญญาประกัน 1 ปี เป็นการรับประกันภัยประเภทชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2533 ซึ่งเป็นเวลาที่อยู่ในอายุสัญญาประกันภัย นางดวงดาวได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปจอดในบริเวณที่จอดรถยนต์ซึ่งจำเลยทั้งสองได้จัดไว้สำหรับบริการแก่ผู้มาเที่ยวงานสะพานข้ามแม่น้ำแควโดยเรียกค่าบริการเป็นเงิน 30 บาท และพนักงานของจำเลยทั้งสองได้ออกบัตรจอดรถให้ 1 ฉบับ ต่อมาในวันเดียวกันนั้นปรากฏว่ารถยนต์คันเกิดเหตุได้สูญหายไป โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางดวงดาวไปเป็นเงิน 400,000 บาท จากนั้นโจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับฝากรถคันเกิดเหตุตามฟ้องหรือไม่จากการนำสืบของโจทก์ได้ความจากคำเบิกความของนางดวงดาว จันสว่างวงศ์ และนายหุ่ยหรือวี จันสว่างวงศ์ในทำนองเดียวกันว่าพยานทั้งสองได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าไปจอดตามที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบอกว่าข้างในมีที่จอดรถและได้ชำระค่าฝากไปเป็นเงิน 30 บาท พนักงานของจำเลยทั้งสองได้มอบบัตรจอดรถให้ 1 ฉบับ โดยบอกด้วยว่าหากจะนำรถยนต์ออกให้นำบัตรดังกล่าวมาคืน พยานทั้งสองเป็นผู้เก็บกุญแจรถเอง ปัญหามีว่า การที่พยานทั้งสองนำรถยนต์คันเกิดเหตุไปจอดไว้ในลักษณะดังกล่าวเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ในข้อนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 657 บัญญัติว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางดวงดาวและนายหุ่ยหรือวีได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าไปจอดในบริเวณที่จอดรถที่จำเลยทั้งสองจัดให้มีขึ้นตามที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบอกว่าข้างในมีที่จอด โดยได้ชำระเงินค่าจอดรถให้พนักงานของจำเลยทั้งสอง 30 บาท และได้รับใบรับตามเอกสารหมาย ปล.3 ซึ่งมีข้อความว่าบัตรจอดรถไปจากพนักงานของจำเลยทั้งสองโดยนางดวงดาว และนายหุ่ยหรือวียังคงเก็บกุญแจรถไว้เองแล้วออกไปจากบริเวณที่จอดรถดังกล่าวเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าเป็นการส่งมอบรถยนต์คันเกิดเหตุให้แก่จำเลยทั้งสอง อันจะทำให้จำเลยทั้งสองอยู่ในฐานะผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จตามนัยแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 และ 658 ดังนั้น เมื่อรถยนต์คันเกิดเหตุได้สูญหายไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะเป็นผู้รับฝากทรัพย์มีบำเหน็จตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share